เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำคณะผู้บริหาร และบุคลากร เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.-ม.อ.-มช. “3 พลังเพื่อแผ่นดิน” ครั้งที่ 7 ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม 2566 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติพงษ์ ยอดมงคล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวรายงาน ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ โดยในการประชุมครั้งนี้ มีผู้บริหารมหาวิทยาลัย หัวหน้าส่วนงาน หัวหน้าหน่วยงาน ศูนย์ สำนัก และผู้ปฏิบัติงานในสังกัดของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จำนวน 750 คน ณ โรงแรมเซ็นทาราริเวอร์ไซด์ เชียงใหม่
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับในฐานะเจ้าภาพว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้จัดกิจกรรมในครั้งนี้ ในการเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงนโยบายและกระบวนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ที่สอดรับกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของแต่ละมหาวิทยาลัย รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการทำงานระหว่างสามมหาวิทยาลัย ให้บรรลุผลสำเร็จ เพื่อเป็นการสานพลังสามมหาวิทยาลัยให้สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชน สังคม และประเทศ รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคมในระดับมหภาค ต่อไป”
ภายในงานได้มีพิธีเปิดนิทรรศการผลงานศิลปะของคณาจารย์ สถาบัน มข. – ม.อ. – มช. โดยอธิการบดี 3 มหาวิทยาลัยร่วมเปิดนิทรรศการ ฯ จากนั้นเป็นพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข. – ม.อ. – มช.(Let’s walk together) ลงนามโดยอธิการบดีทั้ง 3 มหาวิทยาลัย กิจกรรมสำคัญต่อมาเป็นเวทีของการบอกเล่านโยบาย ทิศทางการขับเคลื่อนของทั้ง 3 มหาวิทยาลัย เริ่มจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมีการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “นโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนการอุดมศึกษา” โดย ดร.กิติพงศ์ พร้อมวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบาย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งขาติ (สอวช.) ซึ่งผู้เข้าร่วมงานให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดี ในครั้งนี้ได้มีการแบ่งกลุ่ม จำนวน 12กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 : Research Utilization กลุ่มที่ 2 : Future of Hicher Education กลุ่มที่ 3 : Talent Management (การแสวงหาและพัฒนาบุคลากรให้เป็น Talent) กลุ่มที่ 4 : ระบบการจัดการ การเงิน การคลัง กลุ่มที่ 5 : Student Mobility & Student Wellbeing กลุ่มที่ 6 : Soft Power Creative Economy กลุ่มที่ : 7 (หัวข้อพิเศษเฉพาะกลุ่ม) Digital Library กลุ่มที่ : 8 (หัวข้อพิเศษเฉพาะกลุ่ม) เครือข่ายความร่วมมือความสุจริตทางวิชาการ กลุ่มที่ : 9 (ห้วข้อพิเศษเฉพาะกลุ่ม) ระบบการรับฟังเสียงลูกค้า (VOC System) กลุ่มที่ : 10 (หัวข้อพิเศษเฉพาะกลุ่ม) IT Technical (Digital Process Automation) กลุ่มที่ 11: (หัวข้อพิเศษเฉพาะกลุ่ม) Carbon Neutral University กลุ่มที่ 12(หัวข้อพิเศษเฉพาะกลุ่ม) ชมรมผู้เกษียณอายุ
โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.-ม.อ.-มช. “3 พลังเพื่อแผ่นดิน” ได้มีพิธีการแลกเปลี่ยนธงเจ้าภาพประเพณี มข.-ม.อ.-มช. “3 พลังเพื่อแผ่นดิน” โดยในครั้งที่ 8 จะเป็นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รับเป็นเจ้าภาพเพื่อจัดเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้บริหารของสามมหาวิทยาลัย เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดี พร้อมการพัฒนาความร่วมมือระดับมหาวิทยาลัย และส่วนงานต่าง ๆ ให้เกิดเป็นรูปธรรม ส่งเสริมความร่วมมือการพัฒนามหาวิทยาลัยตามยุทธศาสตร์ที่สามารถเรียนรู้และนำไปประยุกต์เพื่อการพัฒนาตามบริบทของแต่ละมหาวิทยาลัยได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ สร้างมิตรภาพความร่วมมือให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืนโดยสามารถเรียนรู้ร่วมกันและเข้าใจความแตกต่างของบริบทการพัฒนา ตลอดจนเป็นการขยายขอบเขตความร่วมมือลงถึงระดับส่วนงานต่าง ๆ ของแต่ละมหาวิทยาลัยให้มีการพัฒนาความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ข่าว : วัชรา น้อยชมภู
ภาพ : ณัฐพงษ์ ชำนาญเอื้อ, อรรถพล ฮามพงษ์
https://www.kku.ac.th/17236