เข้าเดือนมิถุนายน หันไปทางไหนก็พบธงสีรุ้ง และบรรยากาศเฉลิมฉลองไปกับ Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) และในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็จะถูกแต่งแต้มไปด้วยสีรุ้งจากเหล่าผู้คนนับพันชีวิตกับงาน “ISAAN PRIDE 2023” ซึ่งปีนี้มาในคอนเซปต์ “อีสานเฮาเท่ากัน เพศเท่าเทียม”
“ศูนย์เพศภาวะศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีภารกิจสำคัญอีกด้าน คือ งานบริการสังคม ช่วยเหลือ และสร้างการตระหนักรู้ให้สังคม ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้าน SDG 5 ความเท่าเทียมทางเพศ จึงได้เป็นแม่งานหลักในการจัด ISAAN PRIDE 2023 ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ขอนแก่น และภาคประชาสังคมเพื่อขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ”
อาจารย์ ดร. ชีรา ทองกระจาย รักษาการผู้อำนวยการศูนย์เพศภาวะศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การจัดงาน “ISAAN PRIDE 2023” นับเป็นปีที่ 2 ที่ศูนย์เพศภาวะศึกษา ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ทั้งสโมสรนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สภานักศึกษา องค์การนักศึกษา ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม และกองพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เครือข่ายภายนอก ประกอบด้วยเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน และเทศบาลนครขอนแก่น เดินหน้าขับเคลื่อนเพื่อความเท่าเทียมในสังคม
เปิดพื้นที่แต่งกาย ไม่กีดกัน นศ.ออกนอกระบบ
ปีแรกของ ISAAN PRIDE เมื่อปีที่ผ่านมา มีธีมงาน คือ “LGBTQ+ Rights in Education” เพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศในสถานศึกษา ซึ่งในปีเดียวกันมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงออกประกาศคำสั่งให้นักศึกษาสามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้
“หากสถาบันการศึกษายังไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้นักศึกษาได้แสดงออกในสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างการแต่งกายตามเพศสภาพ ก็เหมือนกับเรากำลังกีดกันเขาออกจากระบบการศึกษา แทนที่จะใส่ใจกับเปลือกจนปิดประตูให้เยาวชนที่มีความสามารถ เราเลือกที่จะเปิดพื้นที่เพื่อให้ทุกคนได้รับสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม”
หลังจากรณรงค์ในมหาวิทยาลัยแล้ว ปีนี้ธีมของงานจึงขยับมาเป็น “อีสานเฮาเท่ากัน เพศเท่าเทียม” โดยเป้าหมายหลักอย่างแรก คือ การสร้างภาพจำให้พื้นที่ระดับภูมิภาคได้เป็นพื้นที่สร้างความหลากหลาย โอบรับทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกภาษา ทุกศาสนา เพราะทุกที่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
ความเชื่อ – วัฒนธรรม “กะเทยอีสาน” ผิดปกติ
ขณะเดียวกัน การสร้างภาพจำใหม่ให้อีสานก็เป็นอีกโจทย์สำคัญของงานครั้งนี้ จากอดีต “กะเทยอีสาน” ถูกกดทับด้วยวัฒนธรรมความเชื่อท้องถิ่น เช่น เกิดไม่ตรงเพศจะทำให้เกิดอาเพศ หรือความเชื่อทางศาสนาที่คล้ายคลึงกันอย่าง เกิดมาผิดเพศเพราะชาติก่อนทำกรรมไว้ กรอบความคิดเหล่านี้เข้ามาจำกัดความเข้าใจของผู้คนในสังคมทำให้มองว่า “ความหลากหลายทางเพศ” คือ เรื่องประหลาด ผิดปกติ แต่คนรุ่นใหม่เริ่มเข้าใจสิ่งเหล่านี้มากขึ้นจากสื่อต่าง ๆ รวมถึงการขับเคลื่อนของเครือข่ายภาคประชาชน ISAAN PRIDE 2023 จึงไม่ใช่เพียงการเฉลิมฉลอง แต่เป็นการตอกย้ำว่า “ปัจจุบันอีสานทันสมัย เท่าเทียม และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน”
ไฮไลต์ ISAAN PRIDE 2023
สำหรับไฮไลต์ของงาน ISAAN PRIDE 2023 จะจัดขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายน 2566 เริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 10.00 น. กับ นิทรรศการ “Love Talk” จากเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ณ บริเวณศาลาก้านของ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อด้วยเวทีเสวนา “Gender Next Journey” ในช่วงบ่าย 13.00-15.00 น. ที่อาคาร HS.03 ห้อง HUSO Learning Center คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
จากนั้น ตั้งแต่เวลา 16.30 น. จะเป็นการเดินขบวน Pride Parade สุดยิ่งใหญ่ตั้งแต่อาคารพลศึกษา จนถึงศาลาพระราชทานปริญญาบัตร (เดิม) เพื่อร่วมเดิน Pride catwalk บนธงสีรุ้ง ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานปีนี้กว่า 2,000 คน พร้อมกับโชว์สุดพิเศษในภาคค่ำที่จัดเต็มทั้ง Drag Show, Cover Dance, การแสดงพิเศษจากนักศึกษา และการแสดงหมอลำจาก “ศิลปินภูไท” รวมถึงแถลงการณ์ Pride Month โดยผู้บริหารมหาวิทยาลัย และตัวแทนเครือข่าย จึงอยากขอเชิญทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ เพื่อร่วมแสดงพลัง ผลักดัน “อีสานเฮาเท่ากัน เพศเท่าเทียม”
ทำไมคณะมนุษยศาสตร์ฯ มข. มีแต่กะเทย ?
นพฤทธิ์ สิทธิจันทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ รองประธานสโมสรนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม ระบุว่า 2566 เป็นปีที่ 2 ที่สโมสรฯ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “ISAAN PRIDE 2023” เนื่องจากมองว่าเป็นงานที่สำคัญมาก ๆ อีกงานหนึ่งที่จะช่วยสะท้อนปัญหาและเสริมสร้างความเสมอภาคในทุกมิติในสังคม ทั้งด้านเพศ ภาษา และวัฒนธรรม
“ทำไมคณะมนุษยศาสตร์ฯ มีแต่กะเทย โชว์นี้ก็กะเทยมนุษยศาสตร์ฯ ขบวนแห่นั้นก็กะเทยคณะมนุษยศาสตร์ฯ เราไม่อยากให้ใครตัดสิน หรือ ตีตรา เพียงเพราะคณะเรามีความหลากหลาย บางคนอาจจะเป็น LGBTQ+ หรือบางคนอาจจะไม่ได้อยากจำกัดคำนิยามเพศของตัวเองก็ได้”
เมื่อพูดถึง “กะเทยอีสาน” ไม่เฉพาะเพียงในมหาวิทยาลัยขอนแก่นเท่านั้น แต่คำเรียกขานเช่นนี้ ถูกตีตราขึ้นมาพร้อมกับ “ความตลก” จากการสร้างภาพจำในสื่อต่าง ๆ ทั้งละคร หรือ ภาพยนตร์ กลายเป็นแรงกดดันให้ LGBTQ+ บางคนต้องเดินตามกระแสสังคมจากความคาดหวังของคนอื่นว่าต้องตลก ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วอาจไม่ใช่ตัวตนของตัวเอง
Soft Power สร้างความเข้าใจ เพศเท่าเทียม
อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป กระแสซีรีส์วายก็เริ่มเข้ามามีบทบาทและได้รับความนิยมในยุคดิจิทัล LGBTQ+ จึงเริ่มซึมซับเข้าไปในสังคม และเริ่มมีภาพจำใหม่ที่สร้างความเข้าใจกับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ไม่เฉพาะกับคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ผู้ใหญ่บางคนที่เปิดใจก็รับรู้ถึงความหลากหลายและเข้าใจมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ “ISAAN PRIDE 2023” ก็ถือเป็นอีก Soft Power สำคัญที่เครือข่ายภาคประชาสังคม โดยเฉพาะเยาวชนสามารถขับเคลื่อนเพื่อสิทธิและความเท่าเทียมได้ แต่ขณะเดียวกันการเดินหน้าให้ความเท่าเทียมทางเพศเป็นรูปธรรมก็ยังขึ้นอยู่กับผู้กำหนดนโยบายและผู้ออกกฎหมายอย่างรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นรูปธรรมได้อย่างแท้จริง เมื่อทุกคนมาแสดงพลังแล้วก็หวังว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ามาดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงไว้ให้เห็นผลต่อไป
“ISAAN PRIDE 2023 จะเป็นพื้นที่การแสดงออกของทุกคน ไม่ว่าจะมีเพศ ภาษา วัฒนธรรมแบบใด เป็นพื้นที่ที่คนเท่ากัน และเข้าใจคนด้วยกัน โดยเฉพาะคนในภูมิภาค เป็นการแสดงพลังทั้งคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิตัวเอง รวมถึงผู้ที่อยากให้กำลังใจและสนับสนุนให้อีสานเฮาเท่ากัน เพศเท่าเทียม”
Before reaching “ISAAN PRIDE 2023” – the hope for “Equality of Isan, Equality of Sex”
ข่าว : ผานิต ฆาตนาค นักประชาสัมพันธ์ปฏิบัติการ