Developing a model for utilizing agricultural waste materials to add value from the diversity of local resources in Tambon Bua Ngern, Nam Phong District, Khon Kaen Province.

 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565  ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  นำโดย รศ.ดร.อนุสรณ์ เชิดทอง และ ดร.ชานนท์ สุนทรา พร้อมด้วยนักศึกษาภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงพื้นที่ตำบลบัวเงิน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ดำเนินการถ่ายทอดความรู้และฝึกปฏิบัติการเพิ่มมูลค่าจากความหลากหลายของทรัพยากรท้องถิ่น พัฒนารูปแบบการใช้ประโยชน์จากใบมันสำปะหลังซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ทำเป็นวัตถุดิบอาหารวัวเนื้อ โดยวิธีการลดปริมาณไซยาไนด์ให์อยู่ในระดับที่ปลอดภัย  กิจกรรมครั้งนี้มีเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวเนื้อ เข้าร่วม จำนวน 30 ราย แบ่งออกเป็น 5 กิจกรรม ดังนี้  1. บรรยายข้อมูล  2. แนะนำอุปกรณ์ วิธีการ สาธิต และฝึกปฏิบัตินำใบมันสำปะหลังตากแห้ง  3. สาธิตและฝึกทำอาหารข้นที่มีใบมันสำปะหลังตากแห้งเป็นส่วนผสมในสูตรอาหาร  4. แนะนำอุปกรณ์ วิธีการ สาธิตและฝึกปฏิบัตินำใบมันสำปะหลังสดหมัก 5. แนะนำอุปกรณ์  วิธีการ สาธิตและพาฝึกปฏิบัตินำใบมันสำปะหลังสดหมักและหัวมันสำปะหลังสด  โดยจุดเด่นของใบมันสำปะหลังตากแห้ง คือ มีโปรตีนสูงถึง 20-25 % ใช้ทดแทนวัตถุดิบโปรตีน เช่น กากถั่วเหลือง ข้าวโพดที่มีราคาแพงได้ ทำได้ง่าย ประหยัดต้นทุน แรงงาน และจุดเด่นของใบมันสำปะหลังสดหมักร่วมกับหัวมันสำปะหลังสด คือ เป็นแหล่งเสริมพลังงานและโปรตีน ช่วยเร่งสร้างเนื้อให้กับวัวเนื้อ

      สำหรับต้นทุนการทำใบมันสำปะหลังตากแห้ง ราคา 6.38 บาทต่อกิโลกรัม และใบมันสำปะหลังสดหมัก ราคา 1.99 – 2.33 บาทต่อกิโลกรัม สามารถแปรรูปเป็นใบมันสำปะหลังอัดเม็ดสำหรับอาหารสัตว์จำหน่ายในราคา 9 บาทต่อกิโลกรัม หรือบรรจุถุง 30 กิโลกรัม จำหน่ายในราคา 220 บาทต่อถุง ซึ่งคาดหวังว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะมีการขยายผลการใช้ใบมันสำปะหลังซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีในพื้นที่นำมาเป็นวัตถุดิบทดแทนอาหารสัตว์ เพื่อช่วยลดต้นทุนทั้งในรูปใบมันสำปะหลังตากแห้งและหมักต่อไป

   

KKU โดย สาวิตรี ศรีมงคล  ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ