เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 เวลา 09.30 น. ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทย์ศาสตร์ ร่วมกับ ห้องปฏิบัติการทางฟีโนม สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี อุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดโครงการอบรมระยะสั้นด้านเมแทโบโลมิกส์ทางคลินิกและสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติขั้นสูง Short Course in Clinacal and Natural Product Metabolomics (CliNaP-M) ครั้งที่ 3 หัวข้อ “Employing Foodomics for Biomedical Science” โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวเปิดงาน รศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว วัตถุประสงค์ในการจัดงาน ในการนี้มี นักศึกษา บุคลากร คณะแพทยศาสตร์ บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเครือข่าย ร่วมพิธีกว่า 40 คน ณ ห้อง NESP 326 อุทยานวิทยาศสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โครงการอบรมระยะสั้นด้านเมแทโบโลมิกส์ทางคลินิกและสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติขั้นสูง Short Course in Clinacal and Natural Product Metabolomics (CliNaP-M) ครั้งที่ 3 หัวข้อ “Employing Foodomics for Biomedical Science” มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางชีววิทยาระบบ และการศึกษาข้อมูลแบบแผนเมแทบอลิซึมให้แก่นักวิจัย รวมไปถึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยที่มีความสนใจทางชีววิทยาระบบและการศึกษาข้อมูลแบบแผนเมแทบอลิซึมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เสริมสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย และ นำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปใช้ในการทำวิจัยเกิดผลงานตีพิมพ์ด้านดังกล่าวให้มากเพิ่มขึ้น
รศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าการจัดการอบรมหลักสูตรระยะสั้นด้าน เมแทโบโลมิกส์ทางคลินิก และ สารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติขั้นสูง “ฟูโดมิกส์” มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์ด้านโอมิกส์ โดยเฉพาะด้าน เมแทโบโลมิกส์ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาวิจัย และ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ นวัตกรรมต่าง ๆ ได้โดยในครั้งนี้เป็นการนำศาสตร์ เมแทโบโลมิกส์ มาประยุกต์กับงานด้านการวิจัยทางอาหาร ฉะนั้นจึงใช้ชื่อธีมของงานว่า “ฟูโดมิกส์” หรือ “โอมิกส์ของอาหาร” ซึ่งจะทำให้ผู้ร่วมอบรมได้เข้าใจหลักการพื้นฐานตั้งแต่การออกแบบการวิจัย และ คัดเลือกกลุ่มประชากร การเก็บตัวอย่าง การวิเคราะห์ตัวอย่าง การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ big data จนกระทั่งการแปลผล และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ผ่านการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบการบรรยาย และ การทำปฏิบัติการจริงกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาดังกล่าว ทั้งในระดับชาติ และ ระดับนานาชาติ
“อาจารย์และนักวิจัยของสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี และ ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำร่องโดยการนำระเบียบวิธีวิจัยด้าน จีโนมิกส์ โปตีโอมิกส์ เมแทโบโลมิกส์ มาประยุกต์ใช้ในการค้นหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ หรือ biomarkers สำหรับทั้งการระบุกลุ่มเสี่ยง วินิจฉัยโรค ติดตามการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด รวมถึงการเกิดขึ้นอีกครั้งของโรคติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งผลการศึกษาสามารถนำไปต่อยอดในการศึกษาทางคลินิกได้อย่างมีประสิทธิภาพและจะเป็นประโยชน์อย่างมากหากถูกนำไปใช้ในการศึกษาวิจัยโรคอื่น ๆ เช่น โรคอ้วนในเด็กโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้นำไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาวิจัยทางอาหาร เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชั่น เครื่องดื่มและยา ตลอดจนผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางการเกษตร ที่สามารถช่วยยกระดับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก และ ขนาดกลางของประเทศ” รศ.นพ.ณรงค์ กล่าว
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นมหาวิทยาลัยที่อุทิศเพื่อสังคม โดยได้รับการจัดอันดับ เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย สำหรับการอุทิศเพื่อสังคม หรือ Social Devotion จาก Times Higher Education ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งการจัดการอบรมหลักสูตรระยะสั้นในครั้งนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีเป้าประสงค์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรม และ พัฒนาบุคลากรด้านงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยด้วยระเบียบวิธีวิจัยสมัยใหม่ ซึ่งศาสตร์ด้านเมแทโบโลมิกส์ และ ชีววิทยาระบบ (Systems Biology) นี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากรผู้สอนที่จบการศึกษาจากสถาบันต่างประเทศในสาขาดังกล่าวมาโดยตรง ประกอบกับความพร้อมด้านเทคโนโลยี เชื่อว่าโครงการอบรมระยะสั้นนี้เมื่อผนวกรวมกับข้อมูลที่ได้จากระเบียบวิธีวิจัยทางโอมิกส์อื่นๆจะสามารถนำไปสู่การแพทย์เฉพาะบุคคล (personalised medicine) หรือ การแพทย์แม่นยำ (precision medicine) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของประเทศไทยต่อไป” อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
สำหรับห้องปฏิบัติการฟีโนมนานาชาติ แห่ง มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นห้องปฏิบัติการที่ให้บริการตรวจวิเคราะห์สารเมแทโบไลต์ โดยให้บริการทั้งงานวิจัยและงานตรวจวิเคราะห์ทั่วไปโดยเฉพาะการตรวจสารปนเปื้อนสารพิษ สารสกัดธรรมชาติ องค์ประกอบในพืชผักผลไม้ และ อาหาร พร้อมกับตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆของผู้ป่วยทุกโรคแบบแม่นยำและเฉพาะบุคคล (Personalized and Predictive Medicine) โดยเทคนิคที่ห้องปฏิบัติการฟีโนมใช้ในการตรวจวิเคราะห์ ได้แก่ เทคนิค Nuclear Magnetic Resonance (NMR) Spectroscopy และ เทคนิค Liquid Chromatography Mass Spectrometry (LC-MS) ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีความแม่นยำ และ ความจำเพาะสูงให้ผลการตรวจวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพ ตอบรับความต้องการของผู้ใช้บริการทั้งภาครัฐ และ เอกชน อีกทั้งยังให้บริการด้านการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้านฟีโนม แก่นักวิจัยทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยตัวอย่างที่สิ่งที่สามารถตรวจได้ ได้แก่ เลือดปัสสาวะ อุจจาระ น้ำลาย ขี้หู สารสกัดหยาบจากธรรมชาติ ตัวอย่างอาหาร เครื่องดื่ม ยา
ทั้งนี้โครงการอบรมระยะสั้นด้านเมแทโบโลมิกส์ทางคลินิกและสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติขั้นสูง Short Course in Clinacal and Natural Product Metabolomics (CliNaP-M) ครั้งที่ 3 หัวข้อ “Employing Foodomics for Biomedical Science” กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 21-25 ธันวาคม 2563 การอบรมแบ่งเป็น การฟังบรรยายความรู้พื้นฐานจากผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีประสบการณ์ทำงานวิจัยด้านชีววิทยาระบบ และ การศึกษาข้อมูลแบบแผนเมแทบอลิซึม อาทิ Professor Yulan Wang ผู้อำนวยการศูนย์ฟีโนมประเทศสิงคโปร์ และ รศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม เลขานุการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากนี้ ผู้เข้าอบรมยังมีโอกาสได้ปฏิบัติจริงทั้งในห้องปฏิบัติการ และ เชิงคอมพิวเตอร์
KKU holds a short training program on Metabolomics with an aim to upgrade research on foods, drinks and agricultural innovations
https://kku.ac.th/8322