เมื่อวันอังคารที่ 3 ตุลาคม 2566 คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมฉลองครบรอบ 60 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในโครงการแข่งขัน “การประกวดนวัตกรรมอาหาร Food Product Innovation Contest” นำโดย ผศ.ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์คณบดีคณะเทคโนโลยี พร้อมด้วย บุคลากร และนักศึกษาคณะเทคโนโลยี ร่วมจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ภายในงานได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดย ผศ.ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์คณบดีคณะเทคโนโลยี กล่าวรายงาน ณ ห้อง Auditorium อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผศ.ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า วัตถุประสงค์ของโครงการนี้เป็นการสนับสนุนเพื่อให้นักเรียนมัธยม สามารถบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ สู่การนำมาปฏิบัติได้จริง เกิดสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการจัดการของเหลือจากใช้มาแปรรูปเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และปลอดภัย เพื่อสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับองค์กร หรือหน่วยงานภายนอก ให้เกิดความร่วมมือต่อยอดทำงานร่วมกันในอนาคต เช่น ผู้ประกอบการโลตัส ได้กิจกรรมดำเนินงานภายใต้ MOU เพื่อต่อยอดการจัดการอาหารส่วนเกิน ภายใต้โครงการกินได้ไม่ทิ้ง (Zero food waste) และโรงเรียนมัธยมได้แนะแนวนักเรียน สู่เส้นทางการประกอบอาชีพ เพิ่มโอกาสการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ตลอดจนบ่มเพาะนักเรียน นักศึกษาให้เป็นนักนวัตกรอาหาร และต่อยอดให้สามารถเข้าร่วมการแข่งขันในระดับภาค และระดับชาติได้
กิจกรรมเริ่มต้นตั้งแต่ เวลา 09.00-17.00 น. โดยในช่วงเช้าเป็นการแข่งขันใน ระดับมัธยม : นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วยสมาชิกไม่เกิน 5 คน และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ 1 คน หัวข้อการแข่งขัน คือ Food Waste (Fruit & Vegetable) to Food Sustainability โดยเป็นการนำผักและผลไม้ส่วนเกินจากทางโลตัสมาแปรรูปฟรี โดยมีทีมที่ผ่านคัดเลือกเข้ารอบชิงชนะเลิศจำนวน 6 ทีม ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ และมีคณะกรรมการการตัดสินผลการแข่งขันในครั้งนี้จำนวน 5 ท่าน ได้แก่
ประธาน นายนิยุทธ์ สืบสาย ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการประกอบธุรกิจการค้าและการตลาด สำนักงานพาณิชย์จังหวัดขอนแก่น
กรรมการท่านที่ 1 นายเปรม ทรัพย์บุญเลิศมา ผู้จัดการแผนกความยั่งยืนองค์กร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด
กรรมการท่านที่ 2 นายสุวิทย์ จันทฤทธิ์ ผู้จัดการแผนกพัฒนาธุรกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กรรมการท่านที่ 3 ผศ.ดร.อัมพร แซ่เอียว สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี
กรรมการท่านที่ 4 ดร.พิมพ์นิภา หิรัณย์สร สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี
จากการประกวดผลปรากฏว่า
รางวัลชนะเลิศการแข่งขันในระดับมัธยมปลาย คือ โรงเรียนสตรีชัยภูมิ (โรงเรียนสตรีชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ)
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม: KKW (โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จ.ขอนแก่น)
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม: CAKE IT HAPPENS! (โรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา)
ส่วนกิจกรรมช่วงบ่ายจะเป็น ระดับมหาวิทยาลัย : นักศึกษาระดับปริญญาตรี จากสถาบันอุดมศึกษา ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วยสมาชิกไม่เกิน 7 คน และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ 1 คน หัวข้อการแข่งขัน คือ Food for Crisis โดยมีทีมที่ผ่านคัดเลือกเข้ารอบชิงชนะเลิศจำนวน 11 ทีม ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
รางวัลชนะเลิศ ระดับปริญญาตรี คือ ทีม D4U จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม: Energy Bars (มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์)
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 MONTO (มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น)
รางวัลชนะเลิศการแข่งขันในระดับมัธยมปลาย คือ โรงเรียนสตรีชัยภูมิ (โรงเรียนสตรีชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ) โดยทีมชนะเลิศระดับมัธยมปลาย ได้นำเสนอผลงาน กิมจิเปลือกแตงโม ที่มาและแนวความคิด แตงโมเป็นผลไม้ในท้องถิ่นของจังหวัดชัยภูมิและนักเรียนในโรงเรียนสตรีชัยภูมิก็นิยมทานแตงโม ในส่วนที่คนนิยมรับประทานมีเฉพาะส่วนที่เป็น เนื้อแตงโม ในขณะที่คนนิยมรับประทานแตงโมงมากเท่าไร จำนวน เปลือกแตงโม ที่ถูกทิ้งเป็นขยะก็มีจำนวนมากเท่านั้น จึงเป็นที่มาของผลิตภัณฑ์ กิมจิเปลือกแตงโม ที่เราได้นำส่วนของเปลือกแตงโม ที่เหลือจากการรับประทาน แต่ยังมีคุณค่าทางโภชนาการมาแปรรูปเป็นอาหารที่สามารถรับประทานได้
รางวัลชนะเลิศ ระดับปริญญาตรี คือ ทีม D4U จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น โดยทีมชนะเลิศระดับปริญญาตรี ได้นำเสนอผลงาน GABA Rester เป็นอาหารเสริมบำรุงร่างกาย ที่มีส่วนของ กาบา ที่มีจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ในรูปแบบผงบรรจุชอง แค่ ฉีก ชง ดื่ม พกพาง่ายจะกินในรูปแบบโยเกิร์ตผสมน้ำ หรือ ใช้ผลผสมของอาหารก็ช่วยเพิ่มรสชาติและให้พลังงานที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้อย่างดี
กิจกรรมครั้งนี้ได้ความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะเทคโนโลยี บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (Lotus โลตัส) และอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กิจกรรมดังกล่าวเป็นเวทีให้นักเรียนแสดงความสามารถทางวิชาชีพ โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนบูรณาการความรู้ทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อจัดการขยะจากอาหารได้ ภายใต้แนวคิด “Zero Food Waste” การแข่งขันสนับสนุนให้ผู้ร่วมงานทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนที่ร่วมแข่งขันได้มีการตระหนักรู้ถึงการจัดการของเหลือใช้ ของเหลือทิ้ง ผ่านแนวคิด สร้างสรรค์ไอเดียเพื่อทำเมนูอาหารจากวัตถุดิบที่ยังเหลือค้าง นอกจากนี้กิจกรรมดังกล่าวยังพัฒนานักศึกษาของคณะฯ ร่วมจัดงานเป็นพี่เลี้ยงให้แก่น้องๆ ที่แข่งขัน ทำให้เกิดมิตรภาพ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร อีกทั้งยังฝึกฝนการเกิดกระบวนการเรียนรู้ การคิดแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบสอดคล้องกับหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อผลิตบัณฑิตในศตวรรษที่ 21 สร้างเด็กรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมในอนาคต
ข่าว : ประทีป เทวงษา
ภาพ : สุพัฒน์ บุญแก้ว
Faculty of Technology, KKU, holds the Food Product Innovation Contest, aiming at promoting environmental conservation among youths