มิติใหม่ศึกษาศาสตร์ สร้างการเรียนรู้และพัฒนางานทั้งระบบ สู่จักรวาลนฤมิต “Metaverse”

เมื่อระหว่างวันที่ 23-24 มีนาคม 2565 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเตรียมความพร้อมสู่การจัดการศึกษาจักรวาลนฤมิต” สำหรับคณาจารย์และบุคลากรคณะศึกษาศาสตร์ โดย รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กล่าวเปิดการอบรม พร้อมด้วย รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และพัฒนาองค์กร และ อาจารย์ ดร.สามารถ สิงห์มา ร่วมเป็นวิทยากรในการบรรยายและจัดอบรมการใช้งาน แพลตฟอร์ม “itals.tech” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการสร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้จักรวาลนฤมิตทางการศึกษาที่ทีมคณาจารย์นักวิจัยคณะศึกษาศาสตร์พัฒนาขึ้น เพื่อใชในการในการจัดการเรียนการสอนบนโลกเสมือนจริง ผสานกับอุปกรณ์เทคโนโลยี XR (AR,VR,MR) 

รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กล่าวว่า “ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะศึกษาศาสตร์ สะท้อนให้เห็นถึงความท้าท้ายที่มีต่อการจัดการศึกษา ในยุค new normal ผ่านรูปแบบการทำงานแบบ Hybrid workplace ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นของสภาพแวดล้อมที่ประกอบไปด้วยวิธีการดำเนินงานที่มีความหลากหลายมากขึ้น เราจึงจำเป็นต้องส่งเสริมสมรรถนะหลักด้านดิจิทัลของคณาจารย์และบุคลากร เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษาภายใต้ความเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน และความเปลี่ยนแปลงที่คาดว่ากำลังจะเกิดขึ้น อีกทั้งยังเสริมสร้างให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรได้แม้ต้องเผชิญกับสภาวะที่ท้าทายในปัจจุบัน ในวันนี้คณะศึกษาศาสตร์ ได้รับเกียรติอย่างยิ่งจาก อาจารย์ ดร.สามารถ สิงห์มา ท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการจัดการศึกษา จักรวาลนฤมิต หรือโลก Metaverse ที่จะทำให้เราทุกคนเป็น Global citizen ที่เราสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้อย่างราบรื่น”

รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร ได้ให้รายละเอียดโครงการนี้ว่า “ในการที่จะพัฒนาตัวนวัตกรรมที่รองรับการศึกษาแห่งอนาคตเพื่อสร้างผู้เรียนแห่งอนาคตนี้ METAVERSE เป็นหนึ่งในนวัตกรรมและเป็นสิ่งที่เราอยากจะมาศึกษาเรียนรู้ต่อยอดสู่การพัฒนาและนำไปใช้ในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้อย่างไร ตรงนี้เป็นโจทย์ที่เราคิดกันในทีมของคณะศึกษาศาสตร์ในกลุ่มคณาจารย์หลายท่านประชุมปรึกษาหารือกัน เราจะเห็นว่ากระแสของโลกปัจจุบันมีการใช้ digital technology แล้วก็โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ Metaverse ถูกสังคมทั้งโลกให้ความสำคัญแล้วก็มาโฟกัสที่เรื่องนี้ บทบาทที่สำคัญของคณะศึกษาศาสตร์ของเราก็คือว่าทำอย่างไรที่เราจะสามารถทำให้ Metaverse มันจับต้องได้และสู่การออกแบบที่เป็นประโยชน์ทางการศึกษา เราจึงมาคิดแล้วก็ต่อยอดจากงานเดิมที่ทำไว้ก็คือเรื่องของการพัฒนาตัววิธีการจัดการเรียนรู้และต่อยอดเทคโนโลยีเดิมที่เรามีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่า Metaverse เป็นนวัตกรรมที่จะช่วยทำให้การที่ผู้เรียนเรียนรู้แล้วสามารถที่จะสร้างในเรื่องของโลกที่เป็นจริงได้ ไม่ใช่แค่เพียงแค่เสมือนเพราะว่าผู้เรียนเข้าไปอยู่ Metaverse แล้ว ผู้เรียนสามารถที่จะเรียนรู้ปฏิบัติมีปฏิสัมพันธ์กับบทเรียนและกับผู้อื่นได้ด้วยแบบ Realtime ซึ่งตรงนี้จะทำให้ขอบเขตเดิมของการเรียนแบบ e-learning ไม่เป็นกำแพงอุปสรรคอีกต่อไปแล้ว ด้วยเหตุนี้เราจึงมาพัฒนาเพื่อจะทำให้ Metaverse เป็นบทเรียนที่มีแพลตฟอร์มที่ง่าย ทำให้บุคลากรทางการศึกษาสามารถที่จะสร้างห้องเรียนหรือสร้างบทเรียนแบบนี้ได้อย่างง่ายดาย จึงเกิดแพลตฟอร์มที่เราเรียกว่า ITALS ซึ่งย่อมาจากชื่อสาขาวิชาใหม่ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการผลิตและพัฒนากำลังคนทางการศึกษาแห่งอนาคต ซึ่งเป็นการบูรณาการในเรื่องของการสร้างนวัตกรรม ใน 2 วันที่ผ่านมาเราได้ workshop ให้กับบุคลากรของคณะศึกษาศาสตร์ ทั้งสายวิชาการ สายสนับสนุนและโรงเรียนสาธิตในทุกระดับการศึกษาตั้งแต่อนุบาลศึกษา ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ในการที่เราจะเปลี่ยนแปลงหรือผลักดันนโยบายใดก็ตามคงไม่ใช่แค่เรื่องของผู้บริหารเท่านั้นแต่คณาจารย์ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะบุกเบิกเรื่องของการถ่ายทอดนวัตกรรมนี้สู่ประชาสังคมก็เป็นผู้ที่มีความสำคัญมากเช่นกัน เป้าหมายของเราคือไม่ใช่แค่เรื่องของการที่จะมีนวัตกรรมออกสู่การพัฒนาทางการศึกษาเท่านั้นแต่เรายังเน้นเรื่องของการสร้างบรรยากาศของการทำงานให้พร้อมรับกับโลกแห่งอนาคต”

Faculty of Education’s new dimension, for learning and developing the entire system towards “Metaverse”

https://www.kku.ac.th/12901

Scroll to Top