เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม 2565 เวลา 13.30 – 14.10 น. ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ โดยศูนย์บริหารเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมมือทางวิชาการด้านการแก้ไขปัญหาโรคลัมปีสกิน (Lumpy skin disease) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ กรมปศุสัตว์ โดยผู้ลงนามฝ่าย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ศาสตราจารย์บัณฑิตย์ เต็งเจริญสกุล คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ รองศาสตราจารย์ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ฝ่ายกรมปศุสัตว์ ประกอบด้วย นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ ผู้แทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายวิวัฒน์ ไชยชะอุ่ม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์วีรพงษ์ ธนพงศ์ธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน (โรคพิษสุนัขบ้า) ซึ่งพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้เป็นการจัดผ่านโปรแกรม Zoom Meeting
การจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ กรมปศุสัตว์ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการทำงานร่วมกันในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเรื่อง ลัมปีสกิน โดยกรมปศุสัตว์สนับสนุนกำลังคน และอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานในพื้นที่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาโรคระบาดลัมปีสกิน ส่วนทางด้านมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้กับปศุสัตว์และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
รองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีนวัตกรรม สู่การใช้ประโยชน์เชิงสังคมและเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะการทำงานเพื่อสังคม อุทิศเพื่อชุมชน ตามค่านิยมของมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นให้ประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ดี กินดี
“จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกินในช่วงต้นปี 2563 ถึงปัจจุบันมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เห็นถึงความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้ทำงานบูรณาการร่วมกับ กรมปศุสัตว์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ ทั้งในด้านการรักษา การดูแล การป้องกันโรคลัมปีสกิน และจากการทำงานร่วมกันในระยะที่ผ่านมานั้น นำมาสู่การจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมมือทางวิชาการด้านการแก้ไขปัญหโรคลัมปีสกิน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในครั้งนี้
จากบันทึกความเข้าใจร่วมมือทางวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหน้าที่ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยี เรื่อง การรักษา การดูแล รวมถึงการแก้ไขปัญหาโรคลัมปีสกิน ให้กับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงเกษตรกร โดยคณาจารย์จากสาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ และ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญสูง ด้านการดูแลการรักษา ป้องกันโรค ในโคกระบือ รวมถึงการรับมือกับโรคลัมปีสกิน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับกรมปศุสัตว์ มีหน้าที่ในการสนับสนุนกำลังคน และอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานในพื้นที่ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาโรคระบาดลัมปีสกิน เฝ้าระวังควบคุม ป้องกันโรคในสัตว์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การทำงานร่วมกันในครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของภาคเกษตรกรให้อยู่ดี กินดี มีความสุขอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป”อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ ผู้แทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์มีความยินดี และ ภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับโอกาสทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ ความร่วมมือทางวิชาการด้านการ แก้ไขปัญหาโรคลัมปีสกิน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และ สาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยทั้ง 2 หน่วยงานจัดเป็นหน่วยงานที่ มีประสบการณ์มีความเชี่ยวชาญ และ เป็นหน่วยงานสำคัญในการ แก้ปัญหาโรคลัมปีสกิน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
“โรคระบาดลัมปีสกิน นั้นเป็นโรคอุบัติใหม่ ในปศุสัตว์ของประเทศไทย พบในโคเนื้อโคนม และกระบือ ปัจจุบันมีการแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคปศุสัตว์ ก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจอย่าง มหาศาล และ ยังส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้เลี้ยงโคเนื้อ โคนม และกระบือ เป็นอย่างมาก ซึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่พบการรายงานการระบาด ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมป้องกันโรค ตามหลักสากลในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่ได้ร่วมดำเนินการช่วยเหลือ และ แก้ไขปัญหาเสมอมา”
“มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบไปด้วยทีมวิชาการที่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับ โรคลัมปีสกิน มีศักยภาพในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และ ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ในขณะที่ กรมปศุสัตว์มีบทบาทสำคัญในการเฝ้าระวังและควบคุม ป้องกันโรคในสัตว์ และ เป็นหน่วยงานที่ต้องดูแลรับผิดชอบ โรคระบาดสัตว์ในประเทศไทย ซึ่งรวมไปถึงโรคลัมปีสกินด้วย ดังนั้นกรมปศุสัตว์มีความยินดีและมีความมั่นใจที่จะให้ การสนับสนุน ความร่วมมือ กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการแก้ไขปัญหาโรคลัมปีสกิน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น การสนับสนุนบุคลากร และ อำนวยความสะดวกในการดำเนินภารกิจต่างๆในการควบคุม ป้องกันโรค เพื่อให้การแก้ไขปัญหาโรคดังกล่าวมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป” นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ผู้แทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว
ทั้งนี้บันทึกความเข้าใจนี้มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2565 – วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2568
KKU signs MOU with Livestock Department to solve lumpy skin disease for Isan livestock farmers