คณะวิทยาศาสตร์สร้างกลไกการส่งเสริมการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการระดับศาสตราจารย์ (Professorship Coaching) พร้อมการสร้างนิเวศแบบใหม่ให้เอื้ออำนวยต่อการขอตำแหน่งทางวิชาการ

ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์   รศ.ดร.โสภณ บุญลือ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม  รศ.ดร.รินา ภัทรมานนท์ รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ผศ.ดร.นิศาชล แจ้งพรมมา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย พร้อมกับ ศ.ดร.ขวัญใจ กนกเมธากุล  ศ.ดร.อรุณรัตน์ ฉวีราช   ศ.ดร.สาธิต แซ่จึง  รศ.ดร.ประสิทธิ์ ทองใบ  รศ.ดร.สุปรีดิ์ พินิจสุนทร  รศ.ดร.กิตติกร นาคประสิทธิ์   ได้ร่วมกันประชุมในวันที่ 11 มกราคม 2565 เวลา 12.00 น. ณ ห้องประชุม 1 กองบริหารงานคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อหากลไกในการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการของบุคลากรสายวิชาการ ที่อยู่ในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมด 49 ท่าน เพื่อให้สามารถทำตำแหน่งทางวิชาการได้ สำหรับจำนวนศาสตราจารย์ในคณะวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันนั้นมีจำนวน 5 ท่าน และอยู่ในระหว่างโปรดเกล้าฯ อีก 2 ตำแหน่ง

ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มข.

ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยในกระบวนการควรให้รองศาสตราจารย์ที่มีความสนใจได้แสดงความจำนงสมัครเข้ามาในโครงการ และจากนั้นจึงเริ่มกระบวนการ Coaching ซึ่งในกระบวนการจะประกอบไปด้วยการให้คำปรึกษาจากศาสตราจารย์ที่ดำรงตำแหน่งแล้ว และมีประสบการณ์มากพอ โดยข้อมูลเบื้องต้นที่คณะฯ สามารถเตรียมได้คือผลงานวิจัยของอาจารย์ในคณะวิทยาศาสตร์ ที่สามารถติดตามได้ และใกล้ถึงเกณฑ์ในการขอกำหนดตำแหน่งฯ ตามมาตรฐาน ก.พ.อ. เพื่อนำเข้าสู่การส่งเสริมให้อาจารย์ท่านนั้น ๆ ได้ทำผลงานต่อจนถึงเกณฑ์หรือตามกรอบมาตรฐานในแต่ละสาขา นอกจากนี้ที่ประชุมได้ให้ความเห็นถึงความหลากหลายและความพร้อมของคณาจารย์ โดยอาจจะแตกต่างกันไป เช่นบางท่านยังขาดเวลาในการเขียนตำรา จำนวนนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่ลดลง เครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำวิจัยที่ในระดับสาขาและระดับคณะควรให้การสนับสนุนและซ่อมบำรุง เป็นต้น

สำหรับกลไกที่ที่ประชุมเห็นชอบเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนโครงการ ได้แก่ การให้มีที่ปรึกษา การให้เวลา การให้นิเวศของการวิจัยและรวมถึงการส่งมอบคุณค่าให้กับสาขาทางวิชาการของตน การให้งบประมาณ และการให้บุคลากรสนับสนุน เป็นต้น ซึ่งทั้งนี้ในระดับมหาวิทยาลัยก็มีการส่งเสริมการขอตำแหน่งทางวิชาการในชื่อ ค่าย ผศ. รศ. และ ศ. แยกตามระดับวิชาการและเป็นที่คุ้นเคยและยอมรับของคณาจารย์ทั้งมหาวิทยาลัย สำหรับโครงการ Professorship Coaching ที่จะจัดขึ้นในคณะวิทยาศาสตร์เอง จะเป็นการเพิ่มเติมจากในระดับมหาวิทยาลัย ที่ลงรายละเอียดในสาขาต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์เอง ทั้งนี้ขอให้บุคลากรคณะวิทยาศาสตร์ได้ติดตามรายละเอียดในโครงการ Professorship Coaching นี้ต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลข่าว จาก  รศ.ดร. รินา ภัทรมานนท์ รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร

Scroll to Top