คณะนิติศาสตร์จัดเสวนาแนวคิด CSR มุ่งยกระดับการพัฒนาอีสานอย่างยั่งยืน

คณะนิติศาสตร์จัดเสวนาเวทีแลกเปลี่ยน “CSR (Corporate Social Responsibility) ความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจต่อสังคมกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาคอีสาน” มุ่งส่งเสริมการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอีสาน (กป.อพช.ภาคอีสาน) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ศูนย์ประชาสังคมและการจัดองค์กรเอกชนสาธารณะประโยชน์ (ศปส.) กลุ่มวิจัยนโยบายสาธารณะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศ ร่วมจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “CSR ความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจต่อสังคม กับปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาคอีสาน” โดยมีตัวแทนทั้งจากองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนา บุคลากรจากบริษัทและภาคเอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกว่า 50 คน ในโอกาสนี้อาจารย์ดารณี ราชภูเขียว ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการบริหารเครือข่ายทางวิชาการ ได้เป็นผู้แทนคณะกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม ณ ห้องบรรยาย 1

เวทีแลกเปลี่ยนครั้งนี้เป็นกิจกรรมการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ บทเรียน และผลกระทบจากการใชื CSR ในโครงการพัฒนาและการลงทุนในภาคอีสาน การพัฒนาความรู้และความเข้าใจต่อแนวคิดและหลักการเรื่อง CSR ในสังคมไทย รวมทั้งการระดมความคิดเห็นเพื่อยกระดับแนวคิดเรื่อง CSR ให้มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาคอีสานต่อไป โดยมีประเด็นในเวทีเสวนาที่น่าสนใจดังนี้

ในภาคเช้า – เป็นการแลกเปลี่ยนบทเรียนประสบการณ์และผลกระทบจากการใช้ CSR ในโครงการพัฒนาภาคอีสานจากภาคประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ต่อมาเป็นเวทีเสวนานำเสนอประเด็น “แนวคิด ความรู้ เรื่อง CSR ในสังคมไทย” วิทยากรโดย 1) คุณสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ 2) อาจารย์ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ 3) บัวพันธ์ พรหมพักพิง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ต่อมาในภาคบ่าย – เป็นเวทีแลกเปลี่ยนประเด็นสถานภาพ/บทบาทของ CSR ในภาคอีสาน รวมถึงการจัดทำข้อเสนอแนะ จากการเสวนาแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ได้มีข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับการทำ CSR ในภาคอีสาน ดังนี้

1.ควรมีการขยายเวทีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้เรื่อง CSR ให้เป็นวงกว้างหรือเป็นเวทีสาธารณะมากขึ้น

2.การพัฒนาประเด็น “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” ต้องบูรณาการโครงสร้างการทำงานของภาคธุรกิจที่เป็นภาพรวมมากขึ้น ไม่แยกฝ่าย

3.ภาคธุรกิจไม่ควรอยู่ในกลไกของอำนาจรัฐ

4.สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจริง ๆ ทั้งการรับฟังความความคิดเห็น การเยียวยาผลกระทบ (ยุติธรรมและเป็นธรรม ไม่ใช่แค่การแจกของ) รวมทั้งกลไกอำนาจการตัดสินใจและตรวจสอบ

5. CSR ต้องฝังลึกจากข้างในกระจายสู่ข้างนอก สร้างเป็นวัฒนธรรมองค์กร ยกระดับฝ่าย CSR และฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ไม่ใช่แค่ทำงานเชิงรับ

6.CSR ควรจะต้องเป็นกฎหมายและปฏิบัติตามหลักการ “The Global Compact” 9 ข้อ

7.ภาคธุรกิจมีการสร้างเครื่องมือกำกับธุรกิจด้วยกันเอง รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลอย่าง “ตรงไปตรงมา” ต่อสาธารณะ

8.บทบาทของอาจารย์มหาวิทยาลัยในการทำรายงานประเมินภาคธุรกิจต้องตรงไปตรงมา และเป็นอิสระ

9.ชุมชนและภาคธุรกิจ ควรมีสร้างข้อตกลงร่วมกันเพื่อดำเนินงานพัฒนา

10.การพัฒนาที่ยั่งยืนในองค์กรภาคธุรกิจต้องมีนโยบาย แนวปฏิบัติ และแนวทางในเรื่อง CSR ที่ชัดเจนจริงๆ

เวทีครั้งนี้เป็นการบริการวิชาการทางสังคมและสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคม ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการอย่างสร้างสรรค์ต่อแนวคิดและหลักการเรื่อง CSR ซึ่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เป็นพื้นที่กลาง (Co – Creation) เชื่อมโยงองค์กรภาครัฐและเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม เพื่อช่วยกันยกระดับแนวคิด หลักการ และการขับเคลื่อนเรื่อง CSR ของเครือข่ายทุกภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาคอีสานต่อไป

Scroll to Top