ขอแสดงความยินดีกับ บูรพาจารย์ผู้ร่วมก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่ได้รับพระราชทานรางวัลปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และรางวัลพระธาตุพนมทองคำ ประจำปี พ.ศ.2564

ขอแสดงความยินดีกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนู พลวัฒน์ อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (พ.ศ. 2543 – 2547) ได้รับพระราชทานรางวัลปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์  และ รองศาสตราจารย์ ธิติ เฮงรัศมี อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (พ.ศ. 2531 – 2539)  ได้รับพระราชทานรางวัลพระธาตุพนมทองคำ ประจำปี พ.ศ. 2564

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนู พลวัฒน์  เป็นผู้ที่กอปรไปด้วยความรู้ คุณธรรมและจริยธรรมที่ปรากฏแก่สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมและผังเมือง ท่านได้รับการยกย่องในระดับชาติทางด้านวิชาการ ท่านเป็นผู้บุกเบิกและกระตุ้นแรงบันดาลใจให้แก่สถาปนิกและสถาบันการศึกษาด้านสถาปัตยกรรม ทั้งในระดับชุมชน เมือง ภูมิภาค และประเทศชาติ จนนับได้ว่าเป็นบุคคลที่เป็นต้นแบบของสถาปนิกรุ่นหลังได้เจริญรอยตามและความซาบซึ้งในงานสถาปัตยกรรมและผังเมืองอย่างแท้จริง

ท่านมีผลงานโดดเด่นเป็นที่ปรากฏทั่วไปทั้งผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมและงานออกแบบวางผังภาคและเมือง และยังมีผลงานออกแบบงานสถาปัตยกรรม อาคารภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น อาทิเช่น ประตูทางเข้าหลักและรั้ว มหาวิทยาลัยขอนแก่น, อาคารปฏิบัติการ ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์, อาคารเรียน ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์, ห้องสมุดคณะวิศวกรรมศาสตร์ (อาคารเดิม), อาคารภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร และอาคารภาควิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี, โรงแรมขวัญมอ (เดิม), อาคาร คณะศิลปกรรมศาสตร์, อาคารหอพักหญิงที่ 21 และ 23, อาคารหอพักชายที่ 22, ศูนย์อาหารและบริการ 1 (คอมเพล็กซ์), บ้านพักแฝด สีฐาน, โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ คณะเกษตรศาสตร์ เป็นต้น รวมทั้งงานอาคารทางศาสนา อาทิเช่น หอองค์พระพุทธโรจนปัญญา คณะศึกษาศาสตร์, วัดนักบุญเยราร์ด ขอนแก่น เป็นต้น อีกทั้งยังมีผลงานการวางผังแม่บทวางผังแม่บทสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ศูนย์กีฬาและนันทนาการ อาคารพลศึกษาอเนกประสงค์, พื้นที่ส่วนการศึกษาใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (Khon Kaen University New Academic Zone) ประกอบไปด้วย อาคารเรียนวิทยาลัยนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยการปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันขงจื๊อ และงานสถาปัตยกรรมอีกมากมายที่อาจมิได้กล่าวถึง ซึ่งได้สร้างประโยชน์ใช้สอยนานับประการแก่บุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นมากว่า 30 ปี ผลงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนู พลวัฒน์ เป็นต้นแบบ แรงบันดาลใจ และแบบอย่างให้แก่สถาปนิกรุ่นหลัง

รองศาสตราจารย์ธิติ เฮงรัศมี เป็นบุคคลที่มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อมหาวิทยาลัยขอนแก่นและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับตั้งแต่เริ่มรับตำแหน่งทางราชการในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จนกระทั่งได้ร่วมกับคณาจารย์อาวุโสผลักดันให้มีการจัดตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ขึ้นเป็นแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และด้วยเป็นที่ยอมรับในความรู้ความสามารถทั้งทางด้านการบริหาร วิชาการ บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทำให้ท่านได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณบดีถึงสองสมัย ตลอดระยะเวลาดังกล่าวท่านได้มีผลงานการออกแบบทั้งในวิชาชีพสถาปัตยกรรม งานทางด้านวิชาการและวิจัย รวมถึงงานทางสังคมอีกมากมาย อาทิ การวางผังแม่บทและผังเฉพาะในพื้นที่ทั้งภายนอกและภายในมหาวิทยาลัย การพิจารณาแบบแผนและผัง การอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผลงานวิชาการและวิจัยจากการเขียนของท่านได้รับการอ้างอิงและใช้ในการศึกษาสถาปัตยกรรมอย่างต่อเนื่อง นับว่าท่านได้เป็นผู้วางรากฐานทางวิชาการให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการเป็นผู้นำด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตลอดชีวิตราชการของท่านได้ทุ่มเทกำลังกายและสติปัญญา เพื่อสร้างชื่อเสียงและเกียรติภูมิของมหาวิทยาลัย ด้วยการประสานความร่วมมือจากหน่วยงาน องค์กรและสถาบันต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ จนมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเป็นลำดับ

กว่า 50 ปีที่ท่านรองศาสตราจารย์ธิติ เฮงรัศมี ได้อุทิศตนให้แก่การทำงานด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมและปฏิบัติงานในสาขาวิชาชีพไปพร้อมกับการถ่ายทอดความรู้ทางด้านการออกแบบให้ศิษย์ทางด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรมหลายสถาบันเป็นจำนวนนับหมื่นคนอย่างต่อเนื่อง ท่านได้สร้างสรรค์ผลงานออกแบบที่มีคุณค่าจำนวนมาก อาทิเช่น อาคารในสถาบันการศึกษาในมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อาคารที่ใช้เป็นที่ทำการของส่วนราชการต่างๆ มูลนิธิสาธารณกุศล อาคารที่มีความสำคัญทางศาสนาและประเพณี และอาคารสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ที่มีผู้ใช้งานกว่าแสนคน โดยที่หลายอาคารได้รับรางวัลการออกแบบจากสภาสถาปนิก และสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งในด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและเป็นต้นแบบสถาปัตยกรรมอีสาน โดยเน้นการออกแบบที่เน้นการใช้ประโยชน์จากทุนธรรมชาติ ใช้พลังงานไฟฟ้าให้น้อยที่สุด โดยอาคารที่ท่านได้ทำการออกแบบกว่า 200 อาคารนั้น ด้วยการผสานเทคนิคและวิธีการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่บูรณาการเข้ากับการวิเคราะห์สภาพอากาศ ทำให้ตัวอาคารสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าในการบริหารจัดการไปได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท  ซึ่งยังไม่นับผลของการใช้งานอาคารทางด้านอารยะสถาปัตย์ เอกลักษณ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และสุนทรียภาพทางสถาปัตยกรรม ซึ่งไม่สามารถประเมินค่าเป็นตัวเงินได้

บูรพาจารย์ทั้ง 2 ท่านผู้ร่วมก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 นับได้ว่าท่านเป็นผู้ร่วมบุกเบิกสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งแรกในส่วนภูมิภาคที่ผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จนถึงปัจจุบันมีนักศึกษาของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รวมทั้งสิ้น 34 รุ่น ท่านเป็นผู้ซึ่งดำรงไว้ด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม เป็นแบบอย่างของสถาปนิกรุ่นหลัง ท่านเป็นผู้นำและเล็งเห็นความสำคัญของการปฏิบัติวิชาชีพอย่างเคร่งครัด

ข้อมูล / ภาพ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ข่าว : กรรณภัสส์ สิริเกียรติ
วีดีโอ : จักรินเงินทอง และ ศิริวุฒิ รสหอม

Scroll to Top