สำนักบริการวิชาการ มข. ร่วมกับ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จัดเวทีโชว์ผลงานผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ผ้าทอมืออัตลักษณ์อีสานสู่สากล

        วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 สำนักบริการวิชาการ นำโดย รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ  กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ พร้อมด้วย รศ.ดร.ศุภสิทธิ์  คนใหญ่ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการ นายธวัช  รัตนมนตรี  ผู้อำนวยการกองบริหารงานสำนัก นายบุญญฤทธิ์  สมบัติหลาย กรรมการสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น นางสาวเดือนเพ็ญดาว  ชิวพิมาย หัวหน้างานบริการวิชาการ นางวิภาดา  มีแวว หัวหน้างานบริหารและสื่อสารองค์กร นางเอื้องฟ้า  วรรณสิทธิ์ หัวหน้างานแผนยุทธศาสตร์และสารสนเทศ  เปิดกิจกรรมการจัดเวทีนำเสนอผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โครงการยกระดับผ้าทอมืออัตลักษณ์อีสานสู่สากล กิจกรรมการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ประจำปีงบประมาณ 2564 โดย สำนักบริการวิชาการ ร่วมกับ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 จัดทั้งแบบ Onsite และ Online มีผลิตภัณฑ์ต้นแบบจาก 7 จังหวัดภาคอีสาน จำนวน 61 กิจการ ผลงานจำนวนทั้งสิ้น             61ชุด ณ โรงแรมบายาสิตา มหาวิทยาลัยขอนแก่น

        รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ  กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ ได้กล่าวต้อนรับ ดร.วรวิทย์ จิรัฐิติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาคที่ 5 ประธานในพิธี ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาและผู้เข้าร่วมโครงการ  ว่ากิจกรรมนี้เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของสำนัก ที่ได้มอบหมายจากสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ในด้านการจัดการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Education) และ การจัดการศึกษาแบบปกติใหม่ (New Normal Curriculum)  ซึ่งสำนักบริการวิชาการมุ่งหวังที่จะสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอมืออัตลักษณ์อีสานในเชิงสร้างสรรค์ สร้างความโดดเด่นให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ และเติมเต็มเส้นทางในการพัฒนาผ้าทอมืออีสานต่อไป

รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ  กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ

ดร.วรวิทย์ จิรัฐิติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาคที่ 5

 

ต่อจากนั้น ดร.วรวิทย์ จิรัฐิติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาคที่ 5 ให้เกียรติกล่าวเปิดโครงการ และกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมเป็นการให้คำปรึกษาแนะนำ พัฒนาผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าให้กับผ้าทอมือ โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบเดิมที่มีอยู่ให้มีความเป็นสากล เหมาะสมกับยุคสมัยให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 5 ทำงานร่วมกับ สำนักบริการวิชาการ มข. โดยมุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ในส่วนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายใต้อัตลักษณ์ของจังหวัด ในสถานการณ์ปัจจุบันเราประสบปัญหาจากภาวะโควิด ทำให้ธุรกิจในหลายส่วนได้รับผลกระทบ ต้องมีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตแบบ New Normal ทำให้เรื่องของการทำธุรกิจและการท่องเที่ยวจะมีผลกระทบในระยะยาว ถึงแม้จะมีมาตรการเปิดประเทศของรัฐบาลซึ่งอาจจะช่วยให้มีการเพิ่มกำลังซื้อหรือช่องทางการจัดจำหน่าย แต่จำเป็นจะต้องมองถึงผลกระทบในระยะยาวด้วย ซึ่งผู้ประกอบการก็ปรับตัวเพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่ายทั้งในแบบออนไลน์ มุ่งเป้าไปยังสากลหรือระดับโลก

 

การจัดกิจกรรมในครั้งเป็นการจัดเวทีนำเสนอโดยมีการเดินแบบเพื่อโชว์ผลิตภัณฑ์ต้นแบบผ้าทอมืออัตลักษณ์อีสาน เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญ และทีมที่ปรึกษา ได้ร่วมกันให้ข้อมูลและร่วมวิพากษ์ผลิตภัณฑ์ โดยมี ผศ.ดร.รุจิรัตน์ พัฒนถาบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการตลาด รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการตลาด วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ อาจารย์ขจรฤทธิ์  ศิริมาก ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.อุดรธานี เป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิพากษ์ผลิตภัณฑ์ ในครั้งนี้

KKU Academic Service Bureau and the 5th Industrial Promotion Center, Department of Industry Promotion, Ministry of Industry holds a showcase of prototype Isan textiles

https://www.kku.ac.th/12163

Scroll to Top