เมื่อวันอังคาร ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีเปิดโครงการส่งเสริมประสบการณ์และสร้างองค์ความรู้ในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (A.I. Experiential Learning Programs) โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายสุรพล เพชรวรา กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด ณ ชั้น 4 ห้องสมาร์ทคลาสรูม สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมกันนี้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมผ่านทางออนไลน์กว่า 3,000 คน
สำหรับโครงการส่งเสริมประสบการณ์และสร้างองค์ความรู้ในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (A.I. Experiential Learning Programs)มีรูปแบบการดำเนินงาน และ เป็นการเข้าร่วมกิจกรรมแบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบบนแพล็ตฟอร์มที่ถูกพัฒนาด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality) ผ่านทาง https://vconf.kku.ac.th ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ รวมไปถึงการส่งเสริมให้นำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาปรับกระบวนทัศน์ด้านการเรียนการสอน การพัฒนางานวิจัย และงานที่เกี่ยวข้อง และ ส่งเสริมให้เกิดการริเริ่มและพัฒนานวัตกรรมที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการส่งเสริมประสบการณ์และสร้างองค์ความรู้ในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา (Education Transformation) ในกลยุทธ์ที่ 2 การจัดการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงหน่วยงานในต่างประเทศ ในการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับประสบการณ์ตรงในประเด็นด้าน เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอนาคตเช่น A.I., Blockchain, Cloud Computing, Big Data, Edge Computing และ Quantum Computing
“สำหรับการจัดประชุมวิชาการแบบ Virtual Reality ในครั้งนี้ เราจัดขึ้นมาเพื่อที่จะรวบรวมผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั้งในด้านการศึกษา การเกษตร วิศวกรรม ที่จะมาแลกเปลี่ยนความรู้ เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ปัจจุบันมีผลกระทบกับวิถีชีวิต การทำงานในหลายส่วนของสังคม เป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 3000 คน ที่จะได้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกันจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศไทย และ ต่างประเทศทั้งในญี่ปุ่น และ สหรัฐอเมริกา เป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะได้มีส่วนในการเติมเต็มความรู้ทางด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะอยู่ในวงการด้านการศึกษา การเกษตรหรือ วิศวกรรม หรือ บริการต่าง ๆ ขอขอบคุณฝ่ายการศึกษา และ บริการวิชาการร่วมกับผู้เกี่ยวข้องหลาย ๆ ส่วนที่จัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้นมา”
รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ เป็นการจัดแบบ virtual หรือ เสมือนจริง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมผ่านทางออนไลน์ กว่า 3 พันกว่าคนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยความที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นเรื่องใหม่แต่มีผลกระทบในทุกเรื่อง วัตถุประสงค์ของการจัดงานจึงมุ่งเน้น 3 ประเด็น ข้อแรกเราต้องการให้ความรู้และประสบการณ์ตรง เช่น การจัดงานวันนี้เห็นได้ชัดว่าต้องใช้ AI ช่วยในการจัดงาน จึงสามารถเผยแพร่ช่องทางการเข้าร่วมอบรมได้ในทุกมิติแบบนี้ ข้อ 2 เราคิดว่าการเรียนการสอนยังมีกระบวนทัศน์ที่เราต้องนำเรื่อง AI เข้ามาช่วยการจัดการเรียนการสอน และ ให้ความรู้ทั้งบุคลากรของเรา ประการสุดท้าย ตอนนี้ทราบว่าครูบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศต้องจัดการเรียนการสอนเรื่องวิทยาการการคำนวณในโรงเรียน ฉะนั้นก็จะได้อาศัยพื้นที่ตรงนี้ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นแหล่งเรียนรู้ ส่วนผู้ใดที่มีความรู้พื้นฐานเดิมอยู่แล้วก็สามารถนำไปต่อยอดทำนวัตกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องการใช้ AI ต่อไป
นายสุรพล เพชรวรา กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยเพิ่มเติมว่า วันนี้ทางมหาวิทยาลัยได้เชิญมาบรรยายเรื่องการใช้ AI เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผมคิดว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ นอกเหนือจากเรื่องวิกฤตอื่น จากสถานการณ์ขณะนี้ ผมคิดว่า covid19 คือตัวผลักดันที่ทำให้ AIพัฒนาไปเร็วมากขึ้น ฉะนั้นคำถามสำคัญ ณ เวลานี้ จึงอยู่ที่ทำอย่างไรเราจะใช้ AI มาลดผลกระทบ covid19 ให้ได้
“ในเวลานี้มีผู้ที่อยู่บ้านไม่รู้จะทำอะไร เชื่อว่าหากผู้สนใจได้มาเรียน อบรมโครงการอย่างนี้แล้วนำความรู้เรื่อง AI ไปพัฒนาสร้างอาชีพตัวเอง ในการที่จะลดผลกระทบจาก covid จะเป็นเรื่องที่ดีมาก”
ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมประสบการณ์และสร้างองค์ความรู้ในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (A.I. Experiential Learning Programs) กำหนดจัดในระหว่างวันที่ 1 – 23 มิถุนายน 2564 เป็นการจัดกิจกรรมแบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมได้ที่ ที่เวบไซต์ https://vconf.kku.ac.th มี 3 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย
- การสัมมนาออนไลน์ (Virtual Forum) จาก หน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศ
- การจัดนิทรรศการออนไลน์ (Virtual Exhibition) ตลอดทั้งเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2564 โดยมีผลงานจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา , KKU Medical Hub , KKU Smart Farm , KKU Smart City KKU Smart Learning , นวัตกรรมเทคโนโลยีจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยปัญญาประดิษฐ์ไทย (Thailand A.I. University Consortium) , นวัตกรรมจากภาคเอกชนในด้าน A.I., Robotic and Automation
- การฝึกอบรมออนไลน์ (Virtual Classroom) อาทิ
3.1 การอบรมหลักสูตรพื้นฐานสำหรับผู้เริ่มต้น (Basic Program) A.I. Visual Programming และ Data Science/A.I. Process จำนวน 2 วัน
3.2 การอบรมหลักสูตรสำหรับผู้ที่เริ่มเข้าใจการทำงานเบื้องต้น (Intermediate Program) เรื่อง Expert System และ Python Programming จำนวน 3 วัน
3.3 การอบรมหลักสูตรสำหรับผู้ที่เข้าใจการทำงานและต่อยอดพัฒนางาน (Advanced Program) เรื่อง Computer Vision และ A.I. and Edge Computing จำนวน 4 วัน
ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการอบรมจะได้รับ ใบประกาศนียบัตร และยังสามารถนำมาขอเทียบหน่วยกิต ประเภท non-degree ได้ในภายหลัง ตามประกาศและหลักเกณฑ์การจัดการศึกษาตลอดชีวิตของมหาวิทยาลัย
หมายเหตุ ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดหัวข้อที่สนใจ วัน เวลา ในการจัดกิจกรรมได้ที่ https://vconf.kku.ac.th/agenda
ข่าว : รวิพร สายแสนทอง ภาพ : สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน