คณะเกษตรฯ ลงพื้นที่ ต.ศรีบุญเรือง อ.ชนบท ขับเคลื่อนโครงการ U2T ชูสมุนไพรพื้นบ้าน หวังป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพช่วงโควิด-19

___________เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564  คณะเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรม “โครงการอบรมสร้างความเข้าใจในการใช้ยาสมุนไพรพื้นบ้านและการประยุกต์ใช้เพื่อป้องกันและส่งเสริมสุขภาพช่วงโควิด-19” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ตำบลศรีบุญเรือง (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) พื้นที่ตำบลศรีบุญเรือง  อำเภอชนบท  จังหวัดขอนแก่น โดยมี รศ.ดร.ชุลีมาศ บุญไทย อิวาย  หัวหน้าโครงการ พร้อมคณะทำงาน ให้การต้อนรับ  นายศรัทธา คชพลายุกต์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี  โดยทำงานบูรณาการร่วมกับปลัด ดร.วรโชติ กล่อมจิต รักษาการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีบุญเรือง  และ อาจารย์ชลิดา คงเมือง มาร์ติเนสซ์  และ อาจารย์มธุวดี  หอมพุ่ง  ผู้เชี่ยวชาญแพทย์แผนไทย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่งเสริมต่อยอดภูมิปัญญาด้านพืชสมุนไพรในท้องถิ่น อบรมให้ความรู้ประชาชนทั่วไปทุกครัวเรือนในตำบลศรีบุญเรือง จำนวน 958 คน

___________กิจกรรม “โครงการอบรมสร้างความเข้าใจในการใช้ยาสมุนไพรพื้นบ้านและการประยุกต์ใช้เพื่อป้องกันและส่งเสริมสุขภาพช่วงโควิด-19” เกิดขึ้นเนื่องจากผลการสำรวจของคณะทำงานพบว่า พื้นที่ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น  เป็นตำบลเกษตรกรรม เช่น ทำนา ปลูกพืชผักตามฤดูกาล เลี้ยงโคกระบือ มีการทำหัตถกรรมผ้าไหมมัดหมี่ ทำเกสรดอกบัวหลวงอบแห้ง ภายในหมู่บ้านมีต้นยางขนาดใหญ่และทิวต้นตาลซึ่งเหมาะแก่การส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ในหน้าฝนจะมีน้ำหลากมวลน้ำจะล้นลำน้ำชีขึ้นมาท่วมพื้นที่เกษตรกรรมและหมู่บ้าน  เมื่อประเมินศักยภาพของตำบลตามเป้าหมาย 16 ประการ ของ ศ. นพ. ประเวศ วะสี พบว่า เมื่อได้ทำการประเมินโจทย์การพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนภายใต้ 16 เป้าหมาย สรุปได้ว่าปัจจุบันตำบลนี้จัดอยู่ในกลุ่ม ตำบลอยู่รอด  ซึ่งยังต้องการเพิ่มศักยภาพหรือการพัฒนาในด้านการเกษตร การตลาด วิสาหกิจชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูป พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและปราญน์ชาวบ้าน การดูแลสุขภาพ และระบบตลาดออนไลน์  ซึ่งเป็นกิจกรรมในการพัฒนาประเภท สัมมาอาชีพ ในกลุ่มเป้าหมายเกษตรกรและประชาชนทั่วไป  เพื่อแก้ปัญหาความยากจน

___________โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ตำบลศรีบุญเรือง (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) พื้นที่ตำบลศรีบุญเรือง  อำเภอชนบท  จังหวัดขอนแก่น  กำหนดรูปแบบกิจกรรมเน้นการพัฒนาตำบล ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการเพิ่มรายได้หมุนเวียนให้แก่ชุมชน  ด้านการยกระดับสินค้า OTOP และอาชีพอื่นๆ  ด้านการดูแลสุขภาพ  และด้านการยกระดับการท่องเที่ยว

___________ทั้งนี้  ได้กำหนดโจทย์เพื่อการพัฒนาตำบลว่า “การพัฒนาคุณภาพและผลผลิตในภาคการเกษตรและนอกการเกษตรสู่ความยั่งยืนภายใต้วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ชัดเจน”  ในเรื่องการสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยการส่งเสริมเรื่องศูนย์วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่และ ระบบสูบน้ำด้วยระบบโซล่าเซลล์ จากแหล่งน้ำธรรมชาติ   เรื่องสินค้า OTOP เพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ชุมชนและจัดทำสินค้าที่มี เอกสารรับรอง GAP และเกษตรอินทรีย์ ปลอดสารพิษ  ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ ด้านวัฒนธรรมและเรื่องธรรมชาติ เช่น ต้นยางนาที่เป็นมรดกของแผ่นดิน  ด้านสาธารณสุข เช่นการส่งเสริมการใช้สมุนไพร การดูแลผู้สูงอายุ และการอนามัย โดยจะจัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ เพิ่มรายได้เกษตรกร  พัฒนาคุณภาพผลิตทางการเกษตรแบบอินทรีย์   ลดต้นทุนทางการเกษตร และเพิ่มโอกาสทางด้านการตลาดทั้งในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร  โดยมีโครงการการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัย  โครงการจัดการดินและน้ำ  โครงการสมุนไพรอินทรีย์   โครงการสปาบ้านศรีบุญเรือง  การปลูกกัญชงกัญชาแบบอินทรีย์ . โครงการเทคโนโลยีไส้เดือนดินเพื่อ อาหารปลอดภัย การเกษตรและสิ่งแวดล้อม  ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยว  ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ้าไหมทอมือวิธีธรรมชาติและภูมิปัญญาดั้งเดิม  ซึ่ง สามารถเสริมรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้เป็นอย่างดี   การดำเนินการต่าง ๆ  อยู่ภายใต้การดูแลของ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี รศ.ดร.ชุลีมาศ บุญไทย อิวาย  หัวหน้าโครงการ เป็นผู้รับผิดชอบตำบลศรีบุญเรือง ซึ่งประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆ เป็นกิจกรรมในการพัฒนาประเภท การเกษตร กลุ่มเกษตรกร การตลาด แปรรูปผลิตภัณฑ์ สามารถช่วยแก้ความยากจนด้านความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ การดูแลสุขภาพ และการเข้าถึงบริการรัฐ

___________นับเป็นการปรับบทบาทของนักวิชาการมหาวิทยาลัยนอกจากผลิตบัณฑิตออกสู่สังคมแล้ว  ยังมีการทำงานลงพัฒนาเชิงพื้นที่ พัฒนาท้องถิ่นได้อย่างสมบูรณ์แบบ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยขับเคลื่อน ดําเนินงานเพื่อความเจริญของเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ หรือ UNIVERSITY AS A MARKETPLACE โดยการพัฒนาการเรียน ให้ควบคู่กับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง การทํางานกับภาคีเครือข่าย การสร้างนวัตกรรมเสริมสร้างผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างรายได้  ส่งเสริมการเป็น START UP หรือผู้ประกอบการหน้าใหม่ เป็นการเปิดพื้นที่สําหรับสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน และผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน  นำไปสู่ตำบลที่ยั่งยืน ตอบสนองปัญหา หรือความต้องการจำเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

ข่าว   :   วัชรา  น้อยชมภู
ข้อมูลข่าว   :    อาจารย์ ดร.สุกัลยา เชิญขวัญ

Scroll to Top