ขอนแก่น-จัดการประกวดแคนวง “สืบศิลป์ถิ่นอีสาน สืบสานดนตรีแคน”

สำนักข่าว : อีสานเดลี่

URL : https://www.esandailyonline.com/74154

วันที่เผยแพร่ : 27 มีนาคม 2564

การประกวดแคนวง “สืบศิลป์ถิ่นอีสาน สืบสานดนตรีแคน” เพื่อสืบสานและส่งเสริมการท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรมและอัตลักษณ์อีสาน

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 25 มี.ค.64 ที่ ห้องประชุมศูนย์วิทยบริการสิรินธร ม.มหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน จ.ขอนแก่น นายศรัทธา คชพลายุกต์ รอง ผวจ.ขอนแก่น เป็นประธานเปิดการประกวดแคนวง สืบศิลป์ถิ่นอีสานสืบสานดนตรีแคน ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวชุมชน โดยนางพรพิมล คงตระกูล วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น กำหนดจัดขึ้น ท่ามกลางการตรวจคัดกรองตามมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด

นายศรัทธา คชพลายุกต์ รอง ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า การประกวดแคนวง สืบศิลป์ถิ่นอีสาน สืบสานดนตรีแคน ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม จังหวัดขอนแก่น เป็นเมืองแห่ง “เสียงแคน ดอกคูน” ที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ความมีเสน่ห์และกลิ่นอายของความเป็นอีสานยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีที่งดงาม โดยเฉพาะการอนุรักษ์ สืบสานศิลปะการแสดงดนตรีพื้นบ้านอีสาน (แคน) และหมอลำ ให้คงอยู่ เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ สามารถกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่นอีกทางหนึ่ง เกิดความภาคภูมิใจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน

นางพรพิมล คงตระกูล วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับเวทีประกวดเปิดกว้างให้เยาวชน ประชาชนทุกคนทั่วประเทศที่มีหัวใจ ในการอนุรักษ์ สืบสานดนตรีพื้นบ้านอีสานได้เข้าร่วมการประกวดจำนวน 10 วง จาก จังหวัดนครพนม เลย ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์และขอนแก่น โดยการบรรเลงแคนวงเกณฑ์การประกวดมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรมและอัตลักษณ์อีสานที่มีความไพเราะ สื่อความหมายชัดเจน รูปแบบการนำเสนอ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านดนตรีอีสานพื้นบ้านจากสถาบันต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการในการตัดสิน ประกอบด้วย จากศิลปินแห่งชาติ,มหาวิทยาลัยขอนแก่น,มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,สมาคมหมอแคนจังหวัดขอนแก่นและโรงเรียนชนบทศึกษา ที่สำคัญ ยังเป็นการแสดงอัตลักษณ์เฉพาะของจังหวัดขอนแก่น คือ เมืองแห่งเสียงแคนดอกคูณ ความมีเสน่ห์และกลิ่นอายของความเป็นอีสาน ผ่านเครื่องดนตรีและการแสดงดนตรีพื้นบ้านในประเภทแคน และหมอลำ

Scroll to Top