นิทรรศการโฮมดิน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระบวนการสร้างผลงาน ประติมากรรม

สำนักข่าว : campus star

URL : https://campus.campus-star.com/activity/145664.html

วันที่เผยแพร่ : 11 มีนาคม 2564

รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การจัดแสดงนิทรรศการประติมากรรม “โฮมดิน” ของ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ม.ขอนแก่น ร่วมกับคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาและศิลปินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ – นิทรรศการประติมากรรม โฮมดิน

นิทรรศการประติมากรรม โฮมดิน

โดยเป็นการนำผลงานของผู้เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระบวนการสร้างผลงานประติมากรรมของคณาจารย์ นักศึกษาและศิลปิน ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18-23 ธันวาคม 2563 ณ แหล่งเรียนรู้ทางด้านเครื่องปั้นดินเผาระดับประเทศชุมชนด่านเกวียน ตำบลโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา มาจัดแสดง ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยติดตั้งเป็นนิทรรศการถาวร ที่ทรงคุณค่าและงดงาม จำนวนกว่า 51 ชิ้นงาน

ทั้งนี้ ในการอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวข้างต้น มีสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 8 สถาบัน ประกอบด้วย ม.ขอนแก่น ม.มหาสารคาม ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ม.ราชภัฏนครราชสีมา ม.ราชภัฏมหาสารคาม ม.ราชภัฏอุดรธานีม.ราชภัฏบุรีรัมย์ ม.ราชภัฏชัยภูมิ และศิลปินมีชื่อเสียงในระดับประเทศ ศิลปินร่วมสมัยด่านเกวียนและศิลปินอิสระ จำนวนรวมกว่า 50 คน

Creative Space

“การจัดโครงการในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการรวมตัวของคณาจารย์ นักศึกษา ศิลปินทั่วภาคอีสานแล้ว ยังถือว่าเป็นการพัฒนาพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ (Creative Space) ให้กับ ม.ขอนแก่น และจังหวัดขอนแก่น ซึ่งในปัจจุบัน ม.ขอนแก่น ได้มีบทบาทในการสนับสนุนและพัฒนาจังหวัดขอนแก่น และภาคอีสานร่วมกับ 8 องค์กรเศรษฐกิจ ในจังหวัดขอนแก่น ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งกิจกรรมนี้ก็เป็นกิจกรรมหนึ่ง ที่จะช่วยส่งเสริมการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในจังหวัดขอนแก่น” รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ กล่าว

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่นประธานกล่าวเปิด ว่า นิทรรศการประติมากรรม “โฮมดิน” เป็นงานที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของการสร้างสรรค์ ซึ่งผมได้เล็งเห็นความสำคัญของงานในครั้งนี้อยู่ 5 ส่วนหลัก คือ

1. ทุกสิ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำเพื่อเป็นการเปิดประตูสู่สังคมภายนอก ซึ่งรวมถึงงานครั้งนี้เป็นส่วนสำคัญของการที่ทำให้จังหวัดขอนแก่นเป็นเมืองน่าอยู่

2. เป็นผลงานศิลปะสร้างสรรค์ อันเกิดจากการทำงานร่วมกันของคณาจารย์ นักศึกษาและศิลปิน

3. เราได้ใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรม เพื่อแสดงผลงานของภาคอีสาน ที่มีคุณค่าเช่นงานเครื่องปั้นอันเป็นภูมิปัญญาโบราณเกิดผลงานร่วมสมัยที่ประชาชนสามารถเข้ามาชมศึกษาเรียนรู้

4. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการสร้างผลงานในแบบนี้ จะไปช่วยเสริมรากเหง้าภูมิปัญญาให้มีการสืบสานพัฒนา

และ 5. เป็นโอกาสที่ผมจะได้แสดงความชื่นชมและขอบคุณในความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า

การแสดงทางด้านศิลปวัฒนธรรมชุด “โฮมดินถิ่นอีสาน”

ภายในงานยังได้จัดให้มี การแสดงทางด้านศิลปวัฒนธรรมชุด “โฮมดินถิ่นอีสาน” โดยนักแสดงเครือข่ายนาฏศิลป์จังหวัดขอนแก่น พร้อมการจารึกชื่อบนแผ่นดินเหนียวของประธาน และแขกผู้มีเกียรติ เพื่อนำไปจัดแสดงเป็นที่ระลึกในพิธีเปิด จากนั้น รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้นำ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภา ม.ขอนแก่น และผู้ร่วมงานเดินชมผลงานนิทรรศการ โดยมีศิลปินเจ้าของผลงาน คอยให้คำแนะนำถึงที่มา และความหมายของผลงาน

ซึ่งประธานได้เดินชมและพูดคุยซักถามกับศิลปินเจ้าของผลงาน ด้วยความสนใจ รวมทั้งการเข้าชมกระบวนการแกะสลักสร้างผลงานประติมากรรมรูปพญานาค 15 ตระกูล ตามตำนานการกำเนิดกลุ่มชาติพันธุ์อีสานลาว อันมาจากไม้เนื้อแข็งที่ล้มตายในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แก่ ไม้อีทึก (พฤกษ์) และ ไม้แดง แกะสลักโดยฝีมือช่างฝีมือพื้นถิ่นอีสาน เพื่อเป็นการสร้างจุดสนใจใหม่บริเวณริมบึงสีฐานฝั่งตะวันตก และยังเป็นการสืบสานผลงานช่างฝีมือพื้นถิ่น เพื่อจัดแสดงให้ประชาชนได้เข้าชมราวเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้

Scroll to Top