แขนงวิชาการละคร Re-stage ละครเวทีสำหรับเด็กเรื่อง หมู่บ้าน ฟ.ฟัน เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงสหวิทยาการ  

เมื่อวันที่ 6-7 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา แขนงวิชาการละคร สาขาวิชาดนตรีและการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้จัดแสดงผลงานละครเวทีสำหรับเด็กเรื่อง “หมู่บ้าน ฟ.ฟัน” ผลงานศิลปะการแสดงนิพนธ์ของนักศึกษาการละครชั้นปีที่ 4 ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการสร้างสรรค์จากกองทุนสนับสนุนการวิจัยคณะศิลปกรรมศาสตร์ในระดับปริญญาตรี ณ Performing Arts Studio คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยผลงานละครเรื่องนี้ได้จัดแสดงครั้งแรกในเทศกาลละครธีสิสครั้งที่ 4 เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาและได้รับการตอบรับจากผู้ชมอย่างท่วมท้น

การนำผลงานละครกลับมาแสดง (re-stage) ในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือระหว่างสองคณะ คือ คณะศิลปกรรมศาสตร์และคณะทันตแพทยศาสตร์ นำโดย อาจารย์พชญ อัคพราหมณ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.ทพญ.สุวดี เอื้ออรัญโชติ คณะทันตแพทยศาสตร์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดเวทีการแสดงสำหรับผู้ชมเด็กและครอบครัวแล้ว ยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาของทั้งสองคณะได้แลกเปลี่ยนมุมมองการทำงานเชิงสหวิทยาการ โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านการสร้างสรรค์ศิลปะละครเวทีเพื่อนำเสนอความรู้ทางทันตสุขศึกษาแก่กลุ่มเป้าหมาย คือ เด็ก เยาวชน และครอบครัว ผ่านกิจกรรมเสวนาหลังการแสดง (post-show talk ) หลังการแสดงในรอบ 17.00 น. ของทั้งสองวัน โดยการกลับมาของ หมู่บ้าน ฟ.ฟัน ครั้งนี้ ยังคงได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชมอย่างดียิ่ง โดยบัตรเข้าชมการแสดงทั้ง 6 รอบ ถูกจำหน่ายไปอย่างรวดเร็วหลังเปิดให้จองเพียง 1 สัปดาห์

ในการนี้ ผู้บริหารคณะซึ่งประกอบด้วย รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ และ ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้เข้าร่วมชมการแสดงพร้อมด้วยคณาจารย์และนักศึกษาจากทั้งสองคณะ ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธนัชพร กิตติก้อง ได้เป็นผู้แทนแขนงวิชาการละคร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มอบของที่ระลึกแก่คณบดีทั้งสองท่านรวมถึงผู้ให้การสนับสนุนในการจัดการแสดง โดย รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ ได้กล่าวแสดงความชื่นชมแก่นักศึกษาผู้สร้างสรรค์ผลงานละคร ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะการแสดงที่สามารถนำองค์ความรู้ทางทันตสุขศึกษาไปประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพช่องปากให้กับกลุ่มเป้าหมาย และเป็นต้นแบบแก่นักศึกษาทันตแพทย์ได้เป็นอย่างดี และหลังจากนี้ทั้งสองคณะจะได้สร้างความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยน “เครื่องมือ” ของทั้งสองศาสตร์ในการสร้างสรรค์และต่อยอดเชิงสหวิทยาการต่อไป

Scroll to Top