มข. เร่งมือ…ช่วยเหลือสังคมในภาวะวิกฤต COVID

……….เมื่อวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.30 น. รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในที่ประชุมกำหนดแนวทางการทำงานในโครงการช่วยเหลือสังคมในภาวะวิกฤต COVID โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย รองอธิการบดีทุกฝ่าย และคณบดีทุกคณะ เป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับผู้เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร  สำนักงานอธิการบดี  มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

……….รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล  ได้หารือต่อที่ประชุมกำหนดแนวทางการทำงานในโครงการช่วยเหลือสังคมในภาวะวิกฤต COVID  โดยได้กำหนดประเด็นในการประชุมแบ่งออกเป็นโครงการ 3 ระยะ  ได้แก่  โครงการเร่งด่วน ระยะ 3 เดือน  โครงการ 1 ปี  และโครงการมากกว่า 1 ปี

……….สำหรับโครงการเร่งด่วน ระยะ 3 เดือนนั้น  มีเรื่องเร่งด่วนของภาคธุรกิจในจังหวัดขอนแก่นที่กำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักสุดต่อผู้ประกอบการและประชาชนที่อยู่ในสถานประกอบการต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม  เพื่อแสดงถึงความห่วงใยของมหาวิทยาลัยที่มีต่อภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และประชาชนในจังหวัด อธิการบดีจึงเสนอต่อที่ประชุมเพื่อร่วมหาแนวทางในการช่วยเหลือภาคธุรกิจกรณีเร่งด่วน ระยะ 3 เดือน อย่างเป็นรูปธรรม จึงได้มีมติที่ประชุม  โดยให้คณะต่างๆ จัดทำโครงการประชุม/อบรม/สัมมนา ให้กับบุคลากรภายใน และบุคคลภายนอก หรือดำเนินการในรูปแบบอื่น ๆ ที่เป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการช่วยภาคธุรกิจในจังหวัด โดยกระจายการจัดให้ทั่วถึงทุกโรงแรม และเมื่อคณะดำเนินการแล้วให้ส่งข้อมูลให้ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี เพื่อเสนออธิการบดีรายงานสภามหาวิทยาลัยต่อไป

……….สำหรับโครงการระยะ 1 ปี  เป็นการดำเนินโครงการ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ : U2T ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  ซึ่งมหาวิทยาลัยมีบทบาทมาก เพราะได้รับผิดชอบตำบลมากที่สุด จำนวน 135 ตำบล และดูแลเครือข่ายกว่า 200 ตำบล มีคณะรับผิดชอบหลัก 16 คณะ ซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการแล้ว โดยที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจเตรียมทีมวางแผนวิเคราะห์สังเคราะห์บทเรียน เมื่อสิ้นสุดโครงการ จะมีแนวทาง วิธีคิดอย่างไร  ทำอะไรบ้าง อะไรคือปัจจัยที่ทำให้สำเร็จ อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ไม่สำเร็จ เพื่อจะได้เป็นบทเรียนอีกอันหนึ่ง ซึ่งคณะมีแนวทางในแต่ละชุมชนแตกต่างกัน แต่เป้าหมายครบ 4 หัวข้อตามที่กระทรวงฯ ต้องการ แต่วิธีดำเนินการอาจจะไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดประโยชน์ในโครงการ ถ้ามหาวิทยาลัยมีการวางแผนวิเคราะห์สังเคราะห์อาจจะได้อะไรบางอย่างเมื่อสิ้นสุดโครงการที่จะสามารถนำไปถ่ายทอด และรายงาน อว. ได้รับทราบ และอาจจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินการเฟส 2 เฟส 3 ต่อไป

……….ส่วนโครงการมากกว่า 1 ปี : Rebound for Quality Growth 2022  เป็นความต่อเนื่องจากการประชุมของกลุ่มสาขาวิชาได้นำเสนอโครงการ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564  ซึ่งโดยรวมมีโครงการเฉพาะกลุ่ม สาขา และโครงการข้ามกลุ่มสาขา มีความทับซ้อน หรือเหลื่อมกันมาก  จึงมีมติที่ประชุม  ให้แต่ละกลุ่มสาขาประชุมพูดคุยกันต่อจากการสัมมนาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อแปลงหัวข้อออกมาเป็นโครงการ แล้วหากมีความจำเป็นต้องบูรณาการข้ามกลุ่ม ให้ประสานข้ามกลุ่ม และนำเสนอต่อที่ประชุมสัมมนาอีกครั้ง โดยทำแผนผังว่ามีคณะใดเกี่ยวข้องบ้าง เพื่อให้เกิดความชัดเจน และเมื่อได้โครงการแล้ว ให้ส่งข้อมูลให้ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี  โดยให้ระบุว่าโครงการมีคณะใดเกี่ยวข้องบ้าง แล้วจะติดต่อไปคณะอะไร เพื่อให้เห็นตารางจัดเก็บข้อมูลว่าแต่ละโครงการของ 3 กลุ่ม มีคณะอะไรเกี่ยวข้องบ้าง

ข่าว   :   วัชรา   น้อยชมภู
ภาพ  :   ณัฐพงษ์  ชำนาญเอื้อ

KKU speeds up social assistance during the COVID crisis

https://www.kku.ac.th/9992

Scroll to Top