กลุ่มรักพัฒนานครขอนแก่น หารือ คณะแพทย์มข. หาแนวทางในการจัดซื้อวัคซีน Covid -19

สำนักข่าว: ไทยเสรีนิวส์

URL: https://www.thaisaeree.news/125355/

วันที่เผยแพร่: 21 ม.ค. 2564

เมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ ห้องรับรอง ชั้น 6 คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มรักพัฒนานครขอนแก่น โดย นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ และ สมาชิกกลุ่มรักพัฒนานครขอนแก่น เข้าพบ รศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เพื่อหารือแนวทางในการจัดซื้อวัคซีน covid -19 ด้วยงบประมาณของท้องถิ่น เพื่อนำมาใช้สนับสนุนการฉีดวัคซีนจากภาครัฐ เพื่อให้เพียงพอต่อประชาชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่น กว่า 110,000 คน

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ กล่าวว่าเบื้องต้นการหารือร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มข.สนับสนุนแนวคิดในการจัดซื้อและการฉีดวัคซีน ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น โดยได้ให้ ข้อมูล ข้อคิด แนวทาง ในการดำเนินการ และงบประมาณ (ประมาณ 180ล้านบาท) โดย นาย ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรี เทศบาลนครขอนแก่น นำเสนอ แนวทาง 2 แนวทาง คือ 1. ท้องถิ่นทำการจัดซื้อผ่านกระทรวงสาธารณสุข ตามชนิด และราคาที่กระทรวงได้กำหนดให้นำมาใช้ในประเทศไทย

1. ท้องถิ่นทำการจัดตั้งคณะกรรมการ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี สาธารณสุขจังหวัด , โรงพยาบาล , บุคคลากรทางการแพทย์ , คณะแพทยศาสตร์ เพิ่อกำหนดชนิดและรูปแบบ ของวัคซีนที่จะใช้ และ ดำเนินการจัดซื้อตามระเบียบพัสดุ
นายธีระศักดิ์ กล่าวด้วยว่าสำหรับข้อมูลชนิดของวัคซีน1. วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอเอ็นวัคซีน (mRNA) ซึ่งได้จากสารพันธุกรรมชนิดอาร์เอ็นเอจากเชื้อไวรัส เมื่อคนได้รับวัคซีนเข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีที่ช่วยต่อสู้กับไวรัสได้

2. วัคซีนชนิด Viral Vector เป็นการใช้ไวรัสที่ทำให้อ่อนลงแล้วไม่ทำให้เกิดโรค มาตัดต่อใส่สารพันธุกรรมของ coronavirus เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ยกตัวอย่างวัคซีนที่ใช้วิธีนี้ เช่น วัคซีนอีโบล่า
3. วัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated vaccine) คือใช้เชื้อโรคทั้งตัวที่ตายแล้วหรือเฉพาะส่วนประกอบบางส่วนของเชื้อโรค
4. วัคซีนโปรตีนซับยูนิต (subunit protein) เป็นการใช้โปรตีนบางส่วนของเชื้อ เพื่อไปกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน

นายธีระศักดิ์ กล่าวอีกว่าสำหรับวัคซีนที่ตกลงทำสัญญาซื้อกับบริษัท แอสตราเซเนกานั้นเป็นวัคซีนชนิด Viral Vector ส่วนวัคซีนจากบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค ที่จะได้รับลอตแรกปลายเดือน ก.พ. นั้น เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated vaccine) ซึ่งแต่ละรูปแบบมีประสิทธิภาพ และ ข้อควรระวังที่ต่างกัน ซึ่งบุคคลากรทางการแพทย์ที่จะทำการให้วัคซีน จะมีขั้นตอนมาตรฐานตามหลักการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงที่สุด.

Scroll to Top