ก้าวสำคัญของ Transformation Education ในการสร้างลูกเกษตรมอดินแดงยุคใหม่ที่พร้อมท้าทายกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม

        ท่ามกลางวิกฤติอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ชูธงบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำพาสถาบันสู่วิสัยทัศน์ อันเป็นเป้าหมายร่วมกัน คือ มหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก ภายใต้แนวคิด KKU Transformation โดยการกำหนดทิศทางบริหารมหาวิทยาลัยให้พร้อมต่อระบบการศึกษาอย่างเสรีภาพ  เข้าถึงแหล่งความรู้ทุกทิศทาง  พร้อมต่อการรองรับความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านดิจิทัล  เพื่อพัฒนาส่งมอบองค์ความรู้สู่สังคม

รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาพ : บริพัตร ทาสี

        ผลลัพท์ของความสำเร็จทางการศึกษาย่อมหมายถึงคุณภาพของผู้ที่สำเร็จการศึกษาที่สามารถก้าวออกไปสู่สังคมภายใต้ทักษะความรู้ความสามารถที่พร้อมสู่การแข่งขัน การปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา Education Transformation เพื่อเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน และประชาชน ซึ่งมีแนวคิดหลัก คือ พัฒนาหลักสูตรเดิมสู่กระบวนทัศน์ใหม่ ส่งเสริมการเรียนรู้แบบใหม่ ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง โดยเน้นให้มีสื่อการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ที่เพียงพอ ปรับเนื้อหาของหลักสูตรให้มีการบูรณาการข้ามศาสตร์ สู่ทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเริ่มต้นในวันนี้



คณะวิชาต่างๆในมหาวิทยาลัยขอนแก่นต่างรับแนวทางนโยบายเพื่อปรับองศาของเส้นทางใหม่ ในการสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีความพร้อมรอบด้านออกสู่สังคม   ซึ่ง “คณะเกษตรศาสตร์”คือหนึ่งในคณะวิชาที่ดูเหมือนว่าจะเห็นการเคลื่อนไหวทางด้านกิจกรรมเสริมหลักสูตรของนักศึกษาที่มีความเด่นชัดและเรียกความสนใจให้ผู้คนได้หันมามองทุกครั้งโดยเฉพาะจากความสำเร็จของกิจกรรม แปลงกังหันพื้นที่เนรมิตใหม่ที่เรียกแขกให้เข้ามามหาวิทยาลัยไม่ขาดสาย แปลงคัดเตอร์ที่สะพรั่งพราว รวมทั้งภาพจำของนักศึกษาที่ที่แบกจอบแบกเสียมลงแปลงทดลองปลูกพืชผักในยามเย็น พร้อมเสียงเรียกเชิญชวนผู้ผ่านไปมาให้แวะซื้อผลผลิตริมทาง  กิจกรรมลงแปลงนาที่ได้เห็นภาพความร่วมแรงร่วมใจของทั้งครูอาจารย์และนักศึกษาลูกเกษตรที่น่ารักอบอุ่น ซึ่งเชื่อว่ากิจกรรมเหล่านี้คือการปูทางไปสู่เป้าหมายให้กับนักศึกษาทุกคน

        รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ หัวเรือหลักที่อาสาขึ้นมาขับเคลื่อนพัฒนาคณะเกษตรศาสตร์ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านสำคัญทางการศึกษา ในฐานะคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ได้แสดงทัศนะถึงการปรับเปลี่ยนทิศทางการจัดการศึกษาฝ่าวิกฤตความเปลี่ยนแปลงว่า “โดยทั่วไปแล้วการจัดการศึกษาจะมองไปยังบัณฑิตที่เราคาดหวังว่าต้องการให้ออกไปสู่ตลาดงานในลักษณะอย่างไร หลักสูตรจึงเป็นเหมือนพิมพ์เขียวบวกกับกระบวนการจัดการเรียนการสอน  โดยในการสร้างหลักสูตรนั้นเราต้องให้ความสำคัญทั้งกิจกรรมในหลักสูตรและกิจกรรมเสริมหลักสูตร มาถึงวันนี้บริบททางสังคมเปลี่ยนไปความเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่องที่จะมีผลต่อการออกสู่ตลาดงานของบัณฑิตเป็นสิ่งที่เราต้องกลับมามองทบทวนตัวเอง คำว่า วิทยา จริยา ปัญญา ที่เราใช้นับแต่ก่อตั้งมายังเป็นฐานคิดของการจัดการศึกษาที่ดีแต่สิ่งที่เราจะเติมเต็มลงไปเพื่อสร้างเขาให้มีคุณลักษณ์ตามบริบททางสังคมทำให้เราได้กลับมามองย้อนถึงหลักสูตรกระบวนการเรียนการสอนซึ่งเดิมเราเน้นเนื้อหาความรู้เราก็อยู่รอดได้เพราะสังคมไม่ได้ซับซ้อนเหมือนเช่นปัจจุบัน แต่วันนี้เรากำลังมองหาคำตอบให้กับนักศึกษาของเราว่า “ควรรู้อะไร ควรทำอะไรเป็น และมีทัศนคติในการทำงานอย่างไร”ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำหลักสูตร “เกษตรนวัตกรรม” หลักสูตรของการบูรณาการการทำงานกับการเรียนการสอนเข้ามาด้วยกัน เป็นหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

     
“เกษตรนวัตกรรม”
ต่างจากหลักสูตรส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เน้นทางวิชาการ นักศึกษาจะได้ใช้เวลาเรียน 2 ปีก่อนออกไปฝึกปฏิบัติงานจริงอีก 2 ปี หลักสูตรจะมีโครงสร้างที่เอื้อต่อการให้นักศึกษาได้ออกมาลงแปลงมาฝึกเรียนรู้ในสถานการณ์จริงกลับไปเพื่อถอดบทเรียนต่อยอดความคิด  แต่ด้วยการเป็นหลักสูตรนำร่องจึงรับนักศึกษาได้น้อยเพียง 40-50 คน ในขณะที่นักศึกษาส่วนใหญ่ที่เรารับในแต่ละปีถึง 520 คนยังเป็นหลักสูตรเดิมจึงเป็นที่มาของการเติมกิจกรรมต่างๆลงไปให้กับนักศึกษาของเราซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะหลักสูตรเดิมของเรายังไม่ยืดหยุ่นพอที่จะให้นักศึกษาได้มีเวลาออกมาจากชั้นเรียน เพื่อไปหาความรู้ต่อยอดประสบการณ์ได้เป็นสิ่งที่คณะเกษตรศาสตร์กำลังออกแรงใช้ความพยายาม” รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ กล่าว


        กิจกรรมสร้างประสบการณ์หนึ่งที่เรียกเสียงชื่นชมให้กับผู้พบเห็น ปรากฏภาพของดอกไม้ที่หาชมได้ยากนานาชนิดบานสะพรั่งพร้อมกันปรากฏผ่านสื่อและบนโลกออนไลน์ เป็นความสามารถเชิงวิชาการและการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบของนักศึกษาเกษตรที่เด่นชัดนั่นคือ “แปลงกังหัน”มันเป็นต้นแบบสำคัญที่ตอบโจทย์ในเรื่องนี้
       รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “แปลงกังหัน”เป็นกิจกรรมเล็กๆของชุมนุมเกษตรเรียนรู้ และนักศึกษาสาขาวิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ และความร่วมมือจากนักศึกษาต่างสาขาที่มาทำงานร่วมกัน นักศึกษาได้ร่วมแรงร่วมใจลงมือปฏิบัติงานจนเกิดการขยายผลความสำเร็จออกไปอย่างที่ปรากฏ มันเป็นตัวอย่างหนึ่งที่มาช่วยสนับสนุนแนวคิดให้อาจารย์ได้เห็นว่าเมื่อเด็กออกมาจากชั้นเรียนเขาได้นำความรู้ออกมาใช้ ซึ่งมันเชื่อมโยงไปสู่ประสบการณ์อื่นๆในด้านการจัดการเกิดการบูรณาการองค์ความรู้ที่มีค่ามาก

ภาพ : ภาสกร เตือประโคน

          คณะเกษตรศาสตร์อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญตามนโยบายของอธิการบดีในเรื่อง Education Transformation เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้ที่สำเร็จการศึกษาที่สามารถก้าวออกไปสู่สังคมภายใต้ทักษะความรู้ความสามารถที่พร้อมสู่ตลาดงาน ผ่านการปรับปรุงหลักสูตร การหาแนวทางของกระบวนการเรียนการสอนที่ให้สัมฤทธิผลที่ดี การเปลี่ยนแปลงบทบาทของอาจารย์ตลอดจนวิธีคิดในเรื่องการถ่ายทอดความรู้ล้วนเป็นสิ่งที่ท้าทาย  จะเห็นได้ว่าเราพยายามสอดแทรกกิจกรรมต่างๆลงไปให้นักศึกษาของเรา ใช้กิจกรรมที่ประสบความสำเร็จเป็น stepping stone ปูทางก้าวเดินให้กับก้าวอื่นๆที่ตามมา    การมอบประสบการณ์ผ่านการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติแม้จะเป็นทิศทางใหม่ที่เชื่อว่าผลผลิตของเราจะมีคุณภาพที่เพียงต่อการแข่งขันเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ในอีกด้านกลายเป็นสิ่งที่คณะเกษตรศาสตร์ต้องเตรียมความพร้อมหากในวันหนึ่งหลักสูตรส่วนใหญ่คือการลงปฏิบัติงานจริงมกกว่าการเรียนกับครูอาจารย์ในชั้นเรียนเช่นก่อน


       

        รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เรามีนักศึกษาที่นำร่องในหลักสูตรเกษตรนวัตกรรมกว่า 100 คนซึ่งดำเนินการมาถึง 3 ปีพบว่าเราต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ทั้งในเรื่องของเวลาและการที่อาจารย์ต้องลงไปเป็นพี่เลี้ยงซึ่งวันนี้ยังถือได้ว่าไม่เป็นอุปสรรคมากนักเพราะเราที่มีสถานที่ฝึกของนักศึกษาเกษตรอยู่ภายในมหาวิทยาลัยและเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็น Campus ซึ่งครูอาจารย์อาศัยอยู่ภายใน แต่หากวันข้างหน้าของการใช้หลักสูตรนี้แล้วต้องขยายวงการฝึกประสบการณ์ที่กว้างออกไปจะต้องกลับมาเพื่อเตรียมความพร้อมกัน ตอนนี้เราใช้หลักสูตรเกษตรนวัตกรรมเป็นเสมือนไข่แดงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะลง Facility แล้วดึงหลักสูตรอื่นๆมาเชื่อมโยงเพื่อเตรียมความพร้อมและให้นักศึกษาในหลักสูตรทั่วไปได้เข้ามาฝึกฝน
เมื่อถามถึงความคาดหวังต่อคุณลักษณะของบัณฑิตเกษตรศาสตร์ในวันนี้ รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร บอกกับเราว่า “ก่อนนั้นลูกเกษตร มข.ได้ถูกพูดถึงในความอดทนสู้งานที่ผู้จ้างงานมักพูดถึงว่า “อึด” ถึงวันนี้ก็ยังเชื่อว่าสิ่งนี้ยังคงอยู่แล้วเป็นกุญแจความสำเร็จของศิษย์เก่าของเราที่ออกไปอยู่ในสังคมภายนอก แต่คำว่าความอดทนสู้งาน ในบริบทสังคมใหม่ยังต้องรวมไปถึงความสามารถในการทำงานได้รอบด้าน และสิ่งที่สำคัญคือ “ความสามารถในการปรับตัว” และ “การบริหารจัดการตนเองในการแก้ปัญหา มีความกระตือรือร้นเพื่อก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ท้อถอยกับความล้มเหลว”  ล้วนเป็นสิ่งที่เราควรหล่อหลอมลงไปเพื่อให้อยู่รอดในสังคมปัจจุบัน”


       

        รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ กล่าวในตอนท้ายว่า “ ประเทศที่มีฐานด้านการเกษตรเหมือนที่เราเป็นอยู่จะมีความมั่นคงทางด้านอาหารเป็นทุนอยู่แล้ว แล้วยิ่งมาเจอสภาวการณ์ที่ทำให้การเคลื่อนที่ไปมาหากันยากลำบาก การเกษตรยิ่งมีความสำคัญเป็นทวีคูณ เมื่อปลายน้ำมีความสำคัญเช่นนี้การพัฒนากำลังคนเพื่อไปตอบสนองเสมือนต้นน้ำจึงเป็นโจทย์ใหญ่ และเป็นโอกาสของนักศึกษาของเราที่จะออกไปทำงานแต่สิ่งสำคัญเราได้มอบอะไรให้กับเด็กของเราเพื่อไปไขว่คว้าโอกาสนี้  เป็นเวลาที่ครูบาอาจารย์และผู้บริหารที่ต้องสนับสนุนส่งเสริมและสร้างพวกเขาให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ”

ภาพ : ณัฐวุฒิ จารุวงศ์
ภาพ : ภาสกร เตือประโคน
ภาพ : ภาสกร เตือประโคน

 

อุดมชัย สุพรรณวงศ์ / เรียบเรียง
ขอบคุณภาพจาก facebook Darunee Jothityangkoon / ภาพโดย บุคลากรกองสื่อสารองค์กร

 

 

 

 

 

Scroll to Top