ผศ.ณัฐพัชญ์ อนันต์ธีระกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ และรักษาการรองผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ ศ.ดร.อนันต์ พลธานี รศ.ดร.พิศาล ศิริธร ผู้ทรงคุณวุฒิประจำสำนักบริการวิชาการ และบุคลากรสำนักบริการวิชาการ ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานกับ ดร.ณัฐวัตร สุดจินดา ผู้อำนวยการโรงเรียนมีชัยพัฒนา ครู และนักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 ณ โรงเรียนมีชัยพัฒนา อ.ลำปรายมาศ จ.บุรีรัมย์
ผศ.ณัฐพัชญ์ อนันต์ธีระกุล เปิดเผยถึงเหตุผลที่นำผู้ทรงคุณวุฒิและบุคลากรสำนักบริการวิชาการ ไปศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ว่า “สำนักบริการวิชาการ รับผิดชอบโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตําบลแบบบูรณากา (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) จำนวน 9 ตำบล ในพื้นที่อำเภอภูเวียง และอำเภอภูผาม่าน สำนักบริการวิชาการ จะนำแนวทางการพัฒนาโดยใชัโรงเรียนเป็นฐาน (School Based) ซึ่งโรงเรียนมีชัยพัฒนาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาจนประสบความสำเร็จในระดับโลก โดย กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Population Fund (UNFPA) ได้กล่าวยกย่อง “โรงเรียนมีชัยพัฒนา” หรือ “โรงเรียนไม้ไผ่” เป็นโรงเรียนที่มีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดย UNPF ระบุถึงผลงาน ความก้าวหน้า และปรัชญาของโรงเรียนแห่งนี้ในการความสำคัญกับ “การลดความเหลื่อมล้ำ” ด้านต่างๆ รวมถึงด้านเพศ ด้านสังคมและเศรษฐกิจ พร้อมทั้งการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และบริการอื่นๆ เพื่อให้ทุกคน โดยเฉพาะสตรีและเด็ก มีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการพัฒนาชีวิตของตนเอง จึงต้องการนำแนวคิดนี้ไปพัฒนาในตำบลเพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกับทุกฝ่าย และคาดหวังว่าจะเกิดความยั่งยืนต่อไป”
ดร.ณัฐวัตร สุดจินดา ผู้อำนวยการโรงเรียนมีชัยพัฒนา ได้มอบหมายให้นักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนาได้แนะนำโรงเรียนว่า “โรงเรียนมีชัยพัฒนาเป็นโรงเรียนทางเลือก ในเครือของมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ และสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ซึ่งได้เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เป็นคนดี มีวินัย มีความซื่อสัตย์ มีจิตสาธารณะ สามารถคิดนอกกรอบและค้นคว้าหาคำตอบ พร้อมที่จะเป็นผู้ประกอบการการเกษตรและธุรกิจเพื่อสังคม และเป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชนในอนาคต โดยทางโรงเรียนฯ ได้ทำการเปิดรับนักเรียนประจำจากหลายจังหวัด ชนเผ่าต่าง ๆ และนักเรียนจากประเทศเวียตนาม เขมร และลาว ด้วย”
ดร.ณัฐวัตร สุดจินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า “โรงเรียนมีชัยพัฒนา ดำเนินการเรียนการสอนโดยภาคเช้า จนถึง 15.00 น. จัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ หลังจากนั้นนักเรียนจะทำการเกษตร และทำธุรกิจร่วมกัน ทำความสะอาดที่พัก ห้องเรียน และสถานที่ส่วนรวมร่วมกัน รวมไปถึงการออกไปในชุมชนเพื่อเรียนรู้นอกห้องเรียนและช่วยเหลือผู้อื่น”
ศ.ดร.อนันต์ พลธานี และ รศ.ดร.พิศาล ศิริธร ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า “การนำมาปรับใช้กับบริบทของตำบลที่สำนักบริการวิชาการรับผิดชอบ จะต้องปรับให้เข้ากับบริบทของโรงเรียนนั้น ๆ เพราะโรงเรียนที่จะนำมาใช้ไม่ใช่โรงเรียนประจำ และเป็นโรงเรียนรัฐบาล ถ้าสามารถนำมาปรับใช้ได้ โรงเรียนจะเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของชุมชน และเกิดความยั่งยืนได้อย่างแน่นอน”