COLA ผนึกพลังเครือข่ายเดินหน้าโครงการ รางสร้างเมือง รางสร้างไทย ยกระดับคุณภาพชีวิตและวิธีการเดินทางมุ่งสู่เมืองสมาร์ทซิตี้

        วันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563 นายสุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  ให้เกียรติเป็นประธานเปิดนิทรรศการและงานเสวนา ห้เกียรติเป็นประธานเปิดนิทรรศการและงานเสวนา โครงการรางสร้างเมือง- รางสร้างไทย การพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจโดยการพัฒนาขนส่งมวลชนระบบราง กรณีศึกษา การพัฒนาพื้นที่รอบบึงแก่นนคร “แทรมน้อย” รางสร้างเมือง – รางสร้างไทย ในหัวข้อ สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการธุรกิจ ชุมชนและรัฐ จะร่วมสร้างเมืองขอนแก่นด้วยระบบรางได้อย่างไร โดยมี ผศ.ดร.อาดา รัยมธุรพงษ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน พร้อมด้วยอาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ อาจารย์สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและองค์กรสัมพันธ์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ผู้บริหารและคณาจารย์ นักวิจัยให้การต้อนรับและเยี่ยมชมนิทรรศการ ณ บริเวณลานโปรโมชั่น ศูนย์สรรพสินค้าเซ็นทรัล พลาซ่าขอนแก่น
 

        อาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า โครงการรางสร้างเมือง-รางสร้างไทย ดำเนินการด้วยความมุ่งหวังว่าจะสามารถนำเสนอความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยใช้ระบบรางเป็นตัวเชื่อมโยงกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระดับย่าน ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจ การจัดทำแผนธุรกิจ รูปแบบความเป็นไปได้เชิงเศรษฐกิจ ศึกษาระบบการจัดการจราจร ความเหมาะสมของระบบขนส่งมวลชนระบบราง และการเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนระบบอื่นๆ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่นักวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และนักวิจัยจากวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น

        โครงการรางสร้างเมือง-รางสร้างไทย คือโครงการที่ออกแบบแผนธุรกิจด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชุมชน กิจกรรมเชิงพาณิชย์และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกโดยรอบพื้นที่สวนสาธารณะบึงแก่นนคร จังหวัดขอนแก่น จำนวน 6 โครงการ และเชื่อมต่อด้วยระบบขนส่งสาธารณะ “รถแทรม” ระยะทาง 4.4 กิโลเมตร โดย “รถแทรม” ได้รับมอบจากเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาศึกษาและทดลองวิ่งเป็นระบบขนส่งสาธารณะรถไฟฟ้ารางเบา ใช้ขนาดราง 1.435 เมตร ระบบไฟฟ้าสายเหนือศีรษะใช้แรงดันไฟฟ้ากระแสตรง 600 โวลต์ มีขนาดยาว 12.48 เมตร กว้าง 2.4 7 เมตร สูง 4 เมตร รองรับผู้โดยสารสำหรับนั่ง 36 ที่ และมีความจุผู้โดยสารสูงสุด 80 คน 

        จากนั้น จะมีการจัดทำรถแทรมต้นแบบขบวนใหม่ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น โดยได้รับสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 ด้วยความอนุเคราะห์จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งขณะนี้ การดำเนินการเพื่อศึกษาและการวิจัยได้สำเร็จ โดยคณะนักวิจัยได้นำผลการวิจัยมาสรุปออกสู่สาธารณชนและจัดเวทีเสวนาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาต่อยอดโครงการ การจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและวิธีการเดินทางของผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ และส่งเสริมกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่นำเสนอสิ่งดีๆในชุมชน และรักษาคุณค่าของประวัติศาสตร์เมือง

        รศ.ดร อาดา รัยมาธุรพงษ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น กล่าวว่า การจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานวิจัย โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ในการศึกษาวิจัยเรื่องระบบราง เป็นโครงการเริ่มต้น หากโครงการนี้ได้รับผลสำเร็จ จะมีการพัฒนาในขนาดที่ใหญ่ขึ้น คือการพัฒนาระบบรางรอบบึงแก่นนคร ซึ่งคณะนักวิจัยได้ศึกษารูปแบบรถไฟ การเดินรถและส่วนต่างๆของรถไฟ การดูแล บำรุงรักษา ด้านสิ่งแวดล้อม ขนาดล้อ ราง ซึ่งส่วนใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะใช้ระบบรางในการรองรับการเดินทางของประชาชน ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการเดินทางในจังหวัดขอนแก่น จะมีปัญหาการจราจรที่หนาแน่นทั้งในช่วงเช้า ช่วงเย็น เป็นอย่างมาก ดังนั้นการนำระบบรางเข้ามาใช้จะช่วยแก้ปัญหาระบบการขนส่งในระยะยาวได้ ช่วยแก้ปัญหาการจราจร และส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด และจะเป็นเส้นทางซึ่งประชาชนทั่วไปจะได้ใช้บริการด้วย 


 
ข้อมูลข่าว: สำนักงานกรมประชาสัมพันธ์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น
Scroll to Top