คณะวิทยาศาสตร์ มข. เป็นเจ้าภาพการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 16

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน  2563  เวลา  13.00-15.00 น.คณะวิทยาศาสตร์ มข. จัดพิธีเปิดการแข่งขัน  คอมพิวเตอร์โอลิมปิกวิชาการ  ครั้งที่ 16  ณ  ห้องวิทยวิภาส ๑ อาคารวิทยวิภาส  คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  มีผู้บริหาร คณาจารย์ นักเรียน ครูผู้สังเกตการณ์ และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมกว่า 300 คน  มี รศ.เย็นใจ สมวิเชียร กรรมการและเหรัญญิกมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์โดยมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน (สอวน.) เป็นเกียรติร่วมในพิธี กิจกรรมได้แก่ การรับชมวิดิทัศน์แนะนำมหาวิทยาลัยขอนแก่น แนะนำคณะวิทยาศาสตร์ และแนะนำศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ดร.สมศักดิ์  จังตระกูล  ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ และผู้เข้าร่วมการแข่งขันว่า “จังหวัดขอนแก่น มีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่ง ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับความไว้วางใจจากมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 16 ในระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม 2563  ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัล มีความสำคัญต่อการพัฒนาองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ จังหวัดขอนแก่นเล็งเห็นความสำคัญได้ผลักดันให้มีการพัฒนาเมืองโดยใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อนเป็นเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City และยังมีโครงการ Medical Hub ที่ระบบโรงพยาบาลสามารถเชื่อมกันได้ พร้อมกันนี้ยังมีโครงการศูนย์เก็บรวบรวมข้อมูลของเมือง (Information Center) ซึ่งจะเป็น Big Data ของเมืองในอนาคต

การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติของคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสดีอีกครั้งหนึ่ง ที่จังหวัดขอนแก่นได้มีโอกาสส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางการศึกษา  กระผมขอต้อนรับท่านผู้บริหารมูลนิธิ สอวน. ผู้บริหาร สสวท. ผู้แทนจาก สพฐ. คณาจารย์ ครูผู้ดูแลนักเรียน และนักเรียนตัวแทนจาก ศูนย์ สอวน. ทั้ง 13 แห่งทั่วประเทศทุกท่านที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ กระผมขอให้การจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จบรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ทุกประการ”

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติและผู้เข้าร่วมการแข่งขันว่า “ในนามของมหาวิทยาลัยขอนแก่น กระผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ มูลนิธิ สอวน. โดยมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ได้มอบหมายให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นเจ้าภาพ การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติครั้งที่ 16 และรู้สึกเป็นเกียรติที่ท่านรองศาสตราจารย์ ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการมูลนิธิ สอวน. ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 16 ในวันนี้ และขอต้อนรับคณาจารย์ ครูผู้ดูแลนักเรียน และนักเรียนตัวแทนจากศูนย์ สอวน. ทั้ง 13 แห่งทั่วประเทศทุกท่าน ที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้

ปัจจุบันกระแสโลกที่มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ การพลิกโฉมโลกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และการให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์มีเพิ่มขึ้นเป็น  อย่างมาก โดยเฉพาะประเทศไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์ของชาติเพื่อการพัฒนากำลังคนในสมรรถนะด้านดิจิทัล นโยบายการความขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยดิจิทัล  การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลด้วยการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และโดยเฉพาะการเตรียมคนเพื่อรองรับภาวะความปกติใหม่ (New Normal) ซึ่งจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน โดยนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ได้ให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าวที่ท้าทายกับการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยขอนแก่นครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการบริหารจัดการด้วย Digital Transformation  การปรับเปลี่ยนด้านการศึกษา Education Transformation การสร้าง Eco-system ในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยขอนแก่นเองก็ได้เล็งเห็นความสำคัญในการเป็นศูนย์กลางและการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับสูง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเชิงคำนวณ หรือ Computational Thinking ด้วย Programming ซึ่งจะเป็นฐานความรู้ที่สำคัญสำหรับนักเรียนในการต่อยอดไปสู่การพัฒนาและวิจัยทางด้านการคิดคำนวณขั้นสูงให้เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางสำหรับประเทศต่อไป

ต่อมา  ผศ.ดร. สมเกียรติ  ศรีจารนัย  คณบดีคณะวิทยาศาสตร์  ประธานศูนย์โอลิมปิกวิชาการ สอวน.
มหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวรายงานว่า “ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2548 เป็นต้นมา มูลนิธิ สอวน. ได้มอบหมายให้ ศูนย์ สอวน. สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ 13 แห่งทั่วประเทศ ดำเนินการจัดการอบรมวิชาคอมพิวเตอร์ค่ายที่หนึ่งและค่ายที่สองให้แก่นักเรียนเพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนประจำศูนย์ ซึ่งแต่เดิมให้เข้ารับการอบรมค่ายที่สามร่วมกับนักเรียนทั่วประเทศ ที่ผ่านการสอบคัดเลือกของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. และคัดเลือกให้ได้นักเรียนจำนวน 4 คน เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันระหว่างประเทศ นั้น การจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 16 ในปีพุทธศักราช 2563 นี้ นักเรียนที่เข้าแข่งขันเป็นผู้ที่ผ่านการอบรมค่ายที่สองของคอมพิวเตอร์โอลิมปิก และจากการแข่งขันครั้งนี้จะคัดเลือกไว้ จำนวน 25-30 คน เพื่อเข้ารับการอบรมของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. แล้วคัดเลือกให้ได้นักเรียนจำนวน 4 คน เป็นตัวแทนของประเทศไทย ไปแข่งขันระหว่างประเทศตามที่เคยปฏิบัติมา

ในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 16 มูลนิธิ สอวน. ได้มอบหมายให้ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซึ่งเดิมได้กำหนดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 19 พฤษภาคม ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 แต่เนื่องจากในเวลาดังกล่าวเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ทำให้การจัดการแข่งขันต้องเลื่อนกำหนดการจัดงานออกมาจัดในวันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 1 ธันวาคม  พ.ศ. 2563 ในการแข่งขันครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1. เพื่อยกระดับ และกระตุ้นให้มีให้มีการพัฒนาหลักสูตร และมาตรฐานของระบบการเรียนการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ของประเทศ ให้ทัดเทียบนานาประเทศ

2. เพื่อทำให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันเกิดความรักและสนใจที่จะมุ่งเน้นศึกษาทางด้านคอมพิวเตอร์ หรือศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในระดับอุดมศึกษา จนอาจประกอบอาชีพทางคอมพิวเตอร์ในอนาคต
3. เพื่อคัดเลือกนักเรียนที่เข้าอบรมวิชาคอมพิวเตอร์ที่เป็นตัวแทนจาก ศูนย์ สอวน. ทั้ง 13 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นตัวแทนเข้าร่วมการอบรมค่ายโอลิมปิกวิชาการของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในรอบต่อไป
4. เพื่อให้คณาจารย์จากศูนย์ สอวน. ทุกศูนย์มีประสบการณ์ร่วมกันในการเข้าร่วมจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งสามารถนำไปใช้ปรับปรุงการสอน รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการอบรมทางวิชาการในสาขาคอมพิวเตอร์ให้ดียิ่งขึ้น
5. เพื่อสร้างโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนทางความคิดของนักเรียน ตัวแทนครูจากโรงเรียน และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติครั้งที่ 16 นี้ มีนักเรียนที่เข้าร่วมในการแข่งขัน ทั้งสิ้น 93 คน โดยเป็นนักเรียนตัวแทนศูนย์ที่ผ่านค่ายที่สองจาก ศูนย์ สอวน. ทั่วประเทศ 13 แห่ง จำนวน 90 คน และนักเรียกจากโครงการ สสวท. จำนวน 3 คน อาจารย์ผู้แทนศูนย์และครูสังเกตการณ์จาก ศูนย์ สอวน. จำนวน 57 คน คณะกรรมการฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ และแขกผู้มีเกียรติจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมจำนวนผู้เข้ากิจกรรมทั้งสิ้นประมาณ 300 คน

ซึ่งกิจกรรมหลักการในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติครั้งที่ 16 นี้ จัดขึ้นที่ อาคารวิทยวิภาส สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณาจารย์พักที่โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ และใช้โรงแรมเดอะฌาร์ม บูทิค รีสอร์ท เป็นที่พักสำหรับนักเรียนผู้เข้าร่วมการแข่งขัน  กิจกรรมการแข่งขัน แบ่งออกเป็นกิจกรรมของคณาจารย์และกิจกรรมของนักเรียน กิจกรรมของคณาจารย์ ประกอบด้วย การพิจารณาข้อสอบ การพิจารณาผลสอบ การตัดสินผล และการมอบรางวัล โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับดีเยี่ยม ระดับดีมาก และระดับดี ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดเป็นแนวทางเดียวกันกับที่ปฏิบัติกันในการสอบแข่งขันระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมทัศนศึกษา ส่วนกิจกรรมของนักเรียนประกอบด้วย การสอบแข่งขัน 2 วัน วันละ 3 ชั่วโมง การทำกิจกรรมนันทนาการ และกิจกรรมทัศนศึกษา ในการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก มูลนิธิ สอวน. ตลอดทั้งโครงการ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากคณะวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาคเอกชนและศิษย์เก่าของสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ได้ให้การสนับสนุนทั้งในรูปแบบของงบประมาณและวัสดุ ได้แก่ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ บริษัท โฟกัสอารีน่า จำกัด ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยดาต้าเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด บริษัทมีจีเนียส จำกัด บริษัท พีทีโอเอ เซ็นเตอร์จำกัด บริษัท แลคตาซอย จำกัด บริษัท ซีพีแรม จำกัด และบริษัท เทคโนโลยี อินฟราสตรัคเจอร์ จำกัด การจัดการแข่งขันในครั้งนี้จะสำเร็จมิได้เลยหากไม่ได้รับความร่วมมือและการช่วยเหลือ สนับสนุนจากทุก ๆ ฝ่าย ในโอกาสนี้ กระผมใคร่ขอขอบคุณมูลนิธิ สอวน. คณะกรรมการจัดการแข่งขันฯ คณะกรรมการวิชาการจากทุกสถาบัน ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ให้การสนับสนุนและทำให้การแข่งขันครั้งนี้เกิดขึ้นได้”

            รองศาสตราจารย์ ดร.พินิติ  รตะนานุกูล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์โดยมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน (สอวน.) กล่าวเปิดการแข่งขันความตอนหนึ่งว่า “กระผมมีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 16 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในครั้งนี้คอมพิวเตอร์เป็นศาสตร์สาขาหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกแขนง ต้องอาศัยความรู้พื้นฐานคอมพิวเตอร์ในการศึกษา และสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในโลกปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคของเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในยุคดิจิทัล ยุคออนไลน์ ซึ่งมีข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาเป็นยุคที่โซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด นำไปสู่การใช้ชีวิตแบบปกติใหม่หรือ New Normal การแข่งขันในปัจจุบันทุกองค์กรต้องปรับตัวเข้าไปสู่โลกออนไลน์ จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้องค์กร และประเทศต่าง ๆ มีการพัฒนาซอฟต์แวร์และนวัตกรรมด้านดิจิทัล การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ มีการใช้เทคโนโลยีและการวิจัยด้านการคิดคำนวณขั้นสูง ด้านการเรียนรู้ของเครื่อง ด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยวิเคราะห์ผสานรวมกับศาสตร์ต่าง ๆ ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ และเพิ่มสมรรถนะในการแข่งขัน อีกทั้งในสังคมโลกยุคปัจจุบันเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ทำให้คณาจารย์และนักเรียนต้องมีศักยภาพ และพัฒนาให้รู้เท่าทันวิทยาการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งเนื้อหาวิชาและเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาการเรียนการสอน ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนมีกระบวนการคิดวิเคราะห์ที่ลุ่มลึก และแก้ปัญหาอย่างมีหลักการและเป็นระบบ

การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิกปิกระดับชาติครั้งที่ 16 นี้ จึงเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนามาตรฐานด้านวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ของตนให้สูงเทียบเท่ามาตรฐานสากล และวัดระดับความสามารถของนักเรียนที่ผ่านการอบรมจากศูนย์ สอวน. ทั่วประเทศ นอกจากนี้นักเรียนส่วนหนึ่งจะได้ถูกคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับนานาชาติต่อไป”  รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล   อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้ให้เกียรติมอบเกียรติบัตรแก่ผู้สนับสนุนการจัดงาน ได้แก่ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ บริษัท โฟกัสอารีน่า จำกัด ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยดาต้าเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด บริษัทมีจีเนียส จำกัด บริษัท พีทีโอเอ เซ็นเตอร์จำกัด บริษัท แลคตาซอย จำกัด บริษัท ซีพีแรม จำกัด และบริษัท เทคโนโลยี อินฟราสตรัคเจอร์ จำกัด   ต่อมา ได้มีพิธีเชิญธงประจำศูนย์ สอวน. ทั้ง 13 ศูนย์  การกล่าวปฏิญาณตน โดย นายนนทพันธุ์ สิทธิโชติเลิศภักดี  ผู้แทนนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น  และ อาจารย์ ดร.พิเชษ  วะยะลุน ผู้แทนคณะกรรมการฝ่ายวิชาการ

โอกาสนี้ ประธาน  คณะที่ปรึกษา  ผู้ทรงคุณวุฒิ  คณาจารย์และนักเรียนแต่ละศูนย์ ได้ถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก ก่อนที่คณะนักเรียนผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะรับฟังคำชี้แจงจากคณะกรรมการในกิจกรรมอื่น ๆต่อไป

(ภาพ/ข่าว โดย สุขทวี คลังตระกูล)

Scroll to Top