สำนักข่าว: ประชาชาติธุรกิจ
URL: https://www.prachachat.net/csr-hr/news-527038
วันที่เผยแพร่: 24 ก.ย. 2563
วันที่ 24 กันยายน 2563 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผนึก 4 พันธมิตรภายใต้ภาคีเครือข่าย TESTA (Thailand Energy Storage Technology Alliance) ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เซ็น MOU ร่วมผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่ความยั่งยืนในยุคดิจิทัล
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (National Energy Technology Center: ENTEC) ที่เพิ่งได้รับการจัดตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เพื่อเป็นศูนย์รวมในการบูรณาการความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานของประเทศและนานาชาติ รวมทั้งเชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนาที่มุ่งเน้นการต่อยอดไปสู่การใช้งานจริง
สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคอุตสาหกรรมและขยายผลต่อยอดไปสู่การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ โดยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ศูนย์ฯ มุ่งเน้น โดยได้ดำเนินการการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ รวมถึงการให้คำปรึกษากับภาคเอกชน ไปสู่เป้าหมายลดการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แก้ปัญหาในอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศ
รวมถึงการยกระดับมาตรฐานทั้งด้านการทดสอบ การควบคุมคุณภาพให้เกิดขึ้นในประเทศอย่างเป็นระบบร่วมกัน เพื่อให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าด้านระบบกักเก็บพลังงานที่สมบูรณ์ สามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิต สร้างงาน สร้างรายได้สร้างความมั่นคงให้กับประเทศอย่างยั่งยืน
ด้านศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเน้นพัฒนานวัตกรรมด้านวัสดุสำหรับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และมีโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแห่งแรกในประเทศไทย ที่เปิดให้นักวิจัยด้านวัสดุและผู้ผลิตแบตเตอรี่เซลล์สามารถเข้าร่วมพัฒนาสูตรผลิตและวัสดุใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลักดันงานวิจัยสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ รวมถึงการผลิตบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรม และการสร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศด้วยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมขับเคลื่อน และส่งเสริมการดำเนินการต่าง ๆ ให้มุ่งสู่ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน และยานยนต์ไฟฟ้าของไทย
ขณะที่ รศ.ดร.สมนึก วิสุทธิแพทย์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานบริการวิชาการและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า มจพ. เล็งเห็นความสำคัญในอนาคตของเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน จึงได้มุ่งมั่นสนับสนุนการพัฒนาบัณฑิต บุคลากร และองค์ความรู้ในสาขาเทคโนโลยีแบตเตอรี่มาอย่างต่อเนื่อง
และยังมีบัณฑิตวิทยาลัยฯ สิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) เป็นคณะทำงานหลักที่ทุ่มเทพัฒนางานวิจัยในเทคโนโลยีแบตเตอรี่มายาวนานและเป็นที่ประจักษ์ TGGS มีการพัฒนาศักยภาพผ่านความร่วมมือกับกลุ่มองค์กรพันธมิตรในประเทศและระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เชี่ยวชาญระดับสากลจาก RWTH Aachen University การลงนามนี้ถือเป็นต่อยอดความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ และจะเป็นประโยชน์อย่างสูงต่อการสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมระบบกักเก็บพลังงานในประเทศ