“สมาชิกแปลงผักปลอดภัยมหาวิทยาลัยมีสุข” ปี 10 ฉีกแนว…ดูงานด้านการเกษตร “แมงสะดิ้งจิ้งหรีด” บ้านฮ่องฮี กาฬสินธุ์

         กองบริหารงานกลาง สำนักงานอธิการบดี  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้ดำเนินโครงการแปลงผักปลอดภัยมหาวิทยาลัยมีสุข ประจำปี 2563  เป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายเสาหลักด้าน People หรือ ประชาคมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในประเด็นการสร้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เป็นที่น่าทำงาน Best Place to Work ส่งเสริมการสร้างความรักความผูกพันระหว่างบุคลากร และบุคลากรต่อองค์กรอย่างเป็นระบบ  โดยมีบุคลากรสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นสมาชิกในโครงการ และร่วมมือร่วมใจปลูกผักตามฤดูกาลปลอดสารพิษในแปลงผักข้างอาคารสิริคุณากร มีผลิตผลแบ่งปันกันมาเป็นปีที่ 10 เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันทำให้บุคลากรได้พัฒนาตนเองร่วมกัน สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข  นำไปสู่การทำงานขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต

ในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ 10 ของการดำเนินโครงการแปลงผักปลอดภัยมหาวิทยาลัยมีสุข  กองบริหารงานกลางโดย นายธัญญา  ภักดี  ผู้อำนวยการกองบริหารงานกลาง จึงได้นำตัวแทนสมาชิกโครงการฯ ไปศึกษาดูงานตามแผนการดำเนินโครงการประจำปี 2563 ในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการประสานการเข้าศึกษาดูงานการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของกลุ่มเกษตรกรที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้การสนับสนุนและส่งเสริม  ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เรียกว่า “มข. แก้จน”  ณ  บ้านฮ่องฮี ต.ยางตลาด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์  เมื่อวันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม 2563

คณะศึกษาดูงานได้เข้าเยี่ยมชมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ของกลุ่มแมงสะดิ้งจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี และแปลงใหญ่จิ้งหรีด โดยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจาก นางอรวรรณ  วอทอง  ประธานกลุ่มแมงสะดิ้งจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี และประธานแปลงใหญ่จิ้งหรีด  และสมาชิกของกลุ่ม  โดยได้รับฟังการบรรยายการผลิต เทคนิคการเลี้ยงแมลงโดยละเอียด  และการแปรรูปผลผลิตของกลุ่มเกษตรกรที่สร้างโอกาสและรายได้ให้กับสมาชิกจนเป็นอาชีพของครอบครัว

นางอรวรรณ วอทอง

          นางอรวรรณ  วอทอง  กล่าวว่า “กลุ่มแมงสะดิ้งจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน และเป็นสมาชิกแปลงใหญ่ของภาครัฐ เนื่องจากมีสมาชิก 51 รายจึงสามารถเข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ของภาครัฐได้  โดยมีความเป็นมาจากได้เริ่มเลี้ยงแมงสะดิ้งจิ้งหรีดในครอบครัว ในปี 2550 ต่อมาได้ขยายผลสู่สมาชิกปี 2553 จากนั้น ได้รวมกลุ่มจดทะเบียนเป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชน เมือปี 2559  เมื่อกลุ่มขยายตัวขึ้น  จึงได้จดทะเยน เป็นสมาชิกแปลงใหญ่ของภาครัฐ ในปี 2560  และกิจการของกลุ่มมีผลประกอบการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เนื่องจาก สินค้ามีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด  จนมีคำกล่าวติดปากว่า ‘จิ้งหรีดภาคอีสานที่อร่อยที่สุดคือจิ้งหรีดจากจังหวัดกาฬสินธุ์’

          อรวรรณ  วอทอง  กล่าวต่อไปว่า  “กลุ่มได้มีการจัดทำมาตรฐานฟาร์ม   โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมาตั้งแต่เป็นวิสาหกิจชุมชน ได้รับการสอนเสริม จนกระทั่งมีการจัดทำมาตรฐานฟาร์ม  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  โดยสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้เข้ามาช่วยทุกอย่าง ตั้งแต่จับมือพาทำ ทำให้มีคุณภาพดีกว่า มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ช่วยจัดทำบัญชี ช่วยในการหาตลาดใหม่ๆ เข้ากลุ่ม จากการขายในโซนเดิม สอนให้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิด เกิดการขับเคลื่อนเชื่อมโยง มีกฎระเบียบระหว่างกันในกลุ่มมากขึ้น  สมาชิกของกลุ่มฯ เป็นกลุ่มแม่บ้าน คนสูงอายุที่หารายได้เสริม จำนวน 51 ราย และมีเครือข่ายทั่วจังหวัดกาฬสินธุ์  มีการเลี้ยงจิ้งหรีดใน Smart Box ลักษณะเป็นบ่อ หรือกล่องยกพื้น ขนาด 2 x 4 เมตร รวมจำนวน 950 บ่อ มีผลผลิตประมาณบ่อละ 18-20 กก. สามารถรวมผลผลิตจำหน่ายได้เดือนละ 4 ตัน ราคาตันละ 80,000 บาท ในหมู่บ้านฮ่องฮี “

ด้านรางวัลระดับประเทศที่เคยได้รับมาคือ การประกวดสื่อสร้างแรงบันดาลใจในการขายสื่อออนไลน์ ที่กระทรวงดิจิทัลจัดขึ้น  โดยส่งผลงานการขายผลิตภัณฑ์ทางออนไลน์  แสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถในการขายทางออนไลน์อย่างไรให้โดนใจลูกค้า เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยกระจายสินค้าผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดออกมาสู่ตลาดได้อย่างกว้างขวาง   ซึ่งผลงานของกลุ่มแมงสะดิ้งจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี เอาชนะผู้เข้าร่วมประกวดกว่า 2,000 กลุ่ม ติด 1 ใน 8 กลุ่ม และได้รางวัลในการเดินทางไปศึกษาดูงานด้านการเกษตรแผนใหม่ที่ประเทศญี่ปุ่น  แต่ความภาคภูมิใจสูงสุดของชีวิตเหนือรางวัลอื่นใด คือ การได้นำผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อคราวเสด็จฯ มายังจังหวัดกาฬสินธุ์ เนื่องจากสมาชิกในกลุ่มส่วนหนึ่งเป็นนักเรียนในพระราชดำริ เป็นกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงในพระราชดำริของพระองค์ท่าน  กลุ่มฯ จึงได้มีโอกาสรับเสด็จฯ  และจำพระราชดำรัสได้อย่างแม่นยำว่า  “จิ้งหรีดพัฒนาได้ไกล มีผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ไม่เคยเห็นมาก่อน…เป็นกำลังใจให้…” 

          อรวรรณ  วอทอง  กล่าวในท้ายที่สุดว่า  “ขอขอบพระคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ที่เล็งเห็นกลุ่มเกษตรกรเล็กๆ อย่างเรา ที่เป็นชาวบ้านไม่ได้เรียนจบสูง  จากที่กลุ่มฯ ไม่เคยร่วมมือกับหน่วยงานใดเลย  แต่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มาลงพื้นที่จริง มาช่วยทุกอย่าง จับมือพาทำจริง ผลักดันหาตลาดใหม่ๆ หาแนวทาง การบริหารจัดการให้กลุ่มฯ มีความเข้มแข็งมากขึ้นทำให้กิจการมีผลผลิตที่ดีในปัจจุบัน”

          นายธัญญา  ภักดี ผู้อำนวยการกองบริหารงานกลาง กล่าวขอบคุณกลุ่มแมงสะดิ้งจิ้งหรีดวิสาหกิจบ้านฮ่องฮี ว่า  “ในนามของสมาชิกเครือข่ายแปลงผักปลอดภัยมหาวิทยาลัยมีสุข ของสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมีสุข ที่ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้การเลี้ยงจิ้งหรีดของกลุ่มฯวิสาหกิจชุมชนบ้านฮ่องฮี หมู่ที่ 14  ประทับใจในการนำภูมิปัญญาของชุมชนมาขยายผลในลักษณะกลุ่มผู้ประกอบการจนเป็นธุรกิจชุมชนที่เข้มแข็ง  ถือเป็นแบบอย่างที่ดีอย่างยิ่ง  ต้องบอกว่าได้รับความรู้เกินคาด นอกจากได้เรียนรู้เรื่องการเลี้ยง แล้ว เรายังได้เทคนิคในการเลี้ยง รวมทั้งแนวคิดในการบริหารจัดการกลุ่ม เพื่อนำไปถ่ายทอดให้สมาชิกแปลงผักปลอดภัยมหาวิทยาลัยมีสุข  ขอบพระคุณคุณอรวรรณ  วอทอง  และสมาชิก ที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี และถ่ายทอดความรู้ให้ และผัสผัสได้ถึงความอบอุ่นอย่างยิ่งในการมาศึกษาดูงานครั้งนี้”

นางอรวรรณ วอทอง



ข่าว/ภาพ   :   วัชรา  น้อยชมภู  /  พรทิพย์  คำดี

Scroll to Top