ครั้งแรกในโลก ! นักศึกษาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มข. จับมือ แพทย์ สร้าง mobile application เครื่องมือช่วยให้แพทย์ประเมินความเสี่ยงว่าผู้ป่วยสอดท่อช่วย หายใจยาก หรือ ง่าย ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใส่ท่อช่วยหายใจ ช่วยชีวิตได้เร็วขึ้น

 

อ.นพ. ปริวัฒน์ ภู่เงิน อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

อ.นพ.ปริวัฒน์ ภู่เงิน อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยเกี่ยวกับ Difficult Airway Detection Application (DI Detection App) ว่า application ดังกล่าวเกิดจาก การศึกษาพัฒนาร่วมกันระหว่างคณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย รศ.วนิดา แก่นอากาศ  นายสิรวิชญ์ ศรีสุริยานุกูล และนายสิรภพ จารุธัญลักษณ์ ซึ่งจากการศึกษาวรรณกรรมเกี่ยวกับ mobile application in health care ยังไม่พบงานวิจัยแบบนี้เกิดขึ้น ฉะนั้นโปรเจคนี้จึงเป็นครั้งแรกของโลก ในการสร้างเครื่องมือในลักษณะ mobile application ที่ช่วยให้แพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยต่อแนวทางการสอดท่อด้วยการวัดระยะทาง Thyromental Height Test (TMHT) จากรูปถ่ายด้านข้างของผู้ป่วยและให้ผลลัพธ์ว่าผู้ป่วยนั้นสอดท่อหายใจได้ยากหรือง่าย

นายสิรวิชญ์ ศรีสุริยานุกูล และนายสิรภพ จารุธัญลักษณ์ นักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“การใส่ท่อช่วยหายใจในผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน ถือเป็นหัตถการที่สำคัญมาก ก่อนใส่ท่อช่วยหายใจแพทย์จะประเมินว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการใส่ท่อช่วยหายใจยากหรือไม่ (Difficult Intubation) ซึ่งเดิมทีเราต้องใช้ประสบการณ์ของแพทย์เป็นหลัก แต่จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่าการวัดระยะทาง จากปลายคางมาถึงตำแหน่งลูกกระเดือก (Thyromental Height Test : TMHT) เป็นวิธีที่มีความน่าเชื่อถือสูงสุดในการทำนายความเสี่ยงในการใส่ท่อช่วยหายใจยาก เราจึงจึงเลือกวิธีนี้มาพัฒนา application เพื่อช่วยในการตัดสินว่าผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจง่าย หรือ ยาก”

“การทำงานเริ่มจากเมื่อผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงายในท่ามาตรฐาน เราจะใช้ application ถ่ายรูปคนไข้ด้านข้างและคำนวณออกมาเป็นระยะทาง ซึ่งเมื่อถ่ายภาพแล้ว application  จะใช้เวลาในการประมวลผลเพียง 5 วินาที ยกตัวอย่าง เช่น  ถ้าผู้ป่วยมี TMHT มากกว่า 5 เซนติเมตร แปลว่าผู้ป่วยคนดังกล่าวมีความเสี่ยงของการใส่ท่อช่วยหายใจยาก แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยจึงต้องเตรียมพร้อมในการใส่ท่อช่วยหายใจในผู้ป่วยรายดังกล่าวมากกว่าผู้ป่วยปกติ ช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใส่ท่อช่วยหายใจ

“นอกจากความสามารถในการทำนายว่าผู้ป่วยใส่ท่อหายใจยากหรือไม่แล้ว DI Detection App ยังมีข้อมูลสำคัญทางการแพทย์ที่จำเป็นสำหรับแพทย์เพื่อทบทวนก่อนใส่ท่อช่วยหายใจ เช่น หากมีผู้ป่วยโควิด-19 จะต้องใส่ท่อช่วยหายใจ จะมีขั้นตอนให้ความรู้ว่าจะต้องปฏิบัติต่อผู้ป่วยอย่างไร หรือ หากจำขนาดยาไม่ได้ จำขั้นตอนไม่ได้ สามารถค้นข้อมูลใน application ได้ทันที โดยปัจจุบัน DI Detection App ยังเป็นรุ่นเริ่มต้นเท่านั้น ตอนนี้เรายังมีแผนงานต่อเนื่องกับคณะวิศวกรรมศาสตร์เพื่อใช้ Artificial intelligent (AI) ช่วยวิเคราะห์และพัฒนา application ให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังมีแผนในการนำ application ไปวิจัยกับผู้ป่วยจริงในอนาคตอีกด้วย”

ทั้งนี้เครื่องมือที่ช่วยให้แพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยต่อแนวทางการสอดท่อด้วยการวัดระยะทาง DI Detection App จากรูปถ่ายด้านข้างของผู้ป่วยและให้ผลลัพธ์ว่าผู้ป่วยนั้นสอดท่อหายใจได้ยากหรือง่าย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยการวิเคราะห์ Difficult Airway Assessment โดยใช้แนวทาง Case-Based Reasoning ในการนำปัจจัยของผู้ป่วยมาประเมินผลเพื่อให้ได้แนวทางการรักษาที่เหมาะสมในแต่ละเงื่อนไข เพื่อลดอุบัติการณ์การเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใส่ท่อช่วยหายใจและช่วยชีวิตได้เร็วขึ้น แพทย์ที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดใช้งานได้ที่ https://apps.apple.com/th/app/di-detection/id1508073248

The world’s first time ever! Computer Engineering students join doctors to create mobile application – a tool that helps doctors to assess risks from intubation, to reduce complications and save life
https://www.kku.ac.th/7387

Scroll to Top