COLA ร่วมมือภาคีเครือข่าย จ.ขอนแก่น ในการดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฐานราก ภายใต้โครงการจ้างงานฯ COVID-19 เฟส 2

วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เวลา 13.30 น. วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น   ลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการวิจัยบริการวิชาการเพื่อพัฒนาแก่สังคมและเศรษฐกิจชุมชน กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดขอนแก่น 225 แห่ง และหน่วยงานภาคีเครือข่ายในจังหวัดขอนแก่น ประกอบด้วย กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 จังหวัดขอนแก่น ท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น สันนิบาตเทศบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หอการค้าจังหวัดขอนแก่น สถิติจังหวัดขอนแก่น มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือจังหวัดขอนแก่นเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อร่วมมือกันในการดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฐานราก ภายใต้โครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ระยะที่ 2 โดยที่ทุกหน่วยงานจะร่วมกันสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาคน smart people and smart economy และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน (Local economy) โดยเน้น พัฒนาคนในชุมชน (ซึ่งเป็นผู้ได้รับการจ้างงานจากกระทรวงการอุดมศึกษาฯ) ให้มีความรู้ ทักษะ ในการสำรวจ “ทุนชุมชน” แล้วนำมาต่อยอดด้วยนวัตกรรม อันถือเป็นรากแก้วของระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ในโครงการศึกษาวิจัย บริการวิชาการ เพื่อพัฒนากำลังคนและเศรษฐกิจชุมชน และแก้ไขปัญหาวิกฤติชาติ ภายใต้โครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (CIVID-19) โดยจัดขึ้น ณ  เทศบาลเมืองศิลา และศาลากลางจังหวัดขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล และ นายสุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธี

รศ.ดร.พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.ดร.พีรสิทธิ์  คำนวณศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น  กล่าวว่า “การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งในมิติของทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติทางเศรษฐกิจ การชะลอตัวของเศรษฐกิจทำให้เกิดภาวะการว่างงานของประชาชนเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จึงได้มีการดำเนินโครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ระยะที่ 2 ขึ้น เพื่อ 1. สร้างงาน รองรับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตและเสริมศักยภาพ ให้กับกำลังแรงงานสมัยใหม่ 2. ส่งเสริมการพัฒนาทักษะในการทำงานในด้านต่าง ๆ ให้แก่แรงงาน อาทิ ทักษะในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาชุมชน ทักษะทางการพัฒนานวัตกรรมทางสังคม และทักษะเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นต้น 3. ค้นหาศักยภาพและ “ทุน” อันรวมถึง ทุนทางสังคม ทุนทางสิ่งแวดล้อม ทุนทางวัฒนธรรม เป็นต้น ในแต่ละพื้นที่ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) 4. พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอันเกิดการเสริมสร้างศักยภาพในการลงทุนและจ้างงานในพื้นที่เป้าหมาย และ 5.  ถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้แก่หน่วยงานเครือข่าย เพื่อไปถ่ายทอดหรือฝึกอบรมในชุมชนทั้งในชนบทและชุมชนเมืองต่อไป”

รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้รับผิดชอบโครงการจ้างงานฯ

สำหรับโครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ระยะที่ 2 รัฐบาลมีนโยบายให้ทุกภาคส่วนดำเนินการด้วยมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มงวด ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ โดยในจังหวัดขอนแก่นนั้น ได้มอบหมายให้วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดขอนแก่น การจัดโครงการในครั้งนี้ได้มุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายคือ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid – 19) จำนวน 1,588 คน ในชุมชนพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เลย และหนองบัวลำภู โดยมีระยะเวลาการจ้างงาน 3 เดือน ในอัตราเดือนละ 9,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ “สร้างอาชีพ สร้างชีวิต สร้างชาติ” พร้อมกับเป็นการพัฒนาชุมชนชนบทและชุมชนเมือง ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่ สู่การสร้างงานรองรับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตและเสริมศักยภาพให้กับกำลังแรงงานสมัยใหม่ และส่งเสริมการพัฒนาทักษะในการทำงานในด้านต่าง ๆ ให้แก่แรงงาน เช่น การวิเคราะห์ และแก้ปัญหาชุมชน การพัฒนานวัตกรรมทางสังคม และทักษะทางวิทยาศาสตร์และสังคม ซึ่งดำเนินการในพื้นที่การดูแลของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 8 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย หนองบัวลำภู ชัยภูมิ และหนองคาย

ผู้ที่สนใจสมัครในโครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ระยะที่ 2 ดังกล่าว สามารถดูรายละเอียดและสมัครออนไลน์ได้ที่เวปไซต์ https://kkuicop.com หรือติดต่อสอบถามได้ที่  kkuicop@gmail.com

ภาพ/ข่าว  จิตรลัดดา  แสนตา ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร COLA KKU

Scroll to Top