นักศึกษาเวชนิทัศน์ มข. สร้างสรรค์ โชว์ผลงานสื่อการศึกษาทางการแพทย์

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562  เวลา 16.00 น.  หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ โดยนักศึกษาเวชนิทัศน์ ชั้นปีที่ 4 ได้จัดนิทรรศการสื่อการศึกษาทางการแพทย์ ขึ้น เพื่อเผยแพร่ผลงานการผลิตสื่อการเรียนการสอนทางการแพทย์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 โดยนำเอาปัญหาจากประสบการณ์การฝึกปฏิบัติ สู่การแก้ปัญหา และสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถใช้งานได้จริง และสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาได้นำมาจัดแสดงในงานนิทรรศการฯ  ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และประชาชนทั่วไปให้เข้าใจง่าย  ซึ่งมีพิธีเปิดงานนิทรรศการสื่อการศึกษาทางการแพทย์  โดยมี อ.ดร.ปิยนัส สุดี ประธานกรรมการบริหารหลักสูตร  กล่าวต้อนรับ  นางสาวภัสชล บุญธรรม ประธานโครงการฯ กล่าวรายงาน  และได้รับเกียรติจาก รศ.กมลวรรณ เจนวิถีสุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เป็นประธานในพิธีเปิด  และได้รับความสนใจจากนักเรียน และประชาชนเข้ามาเยี่ยมชมผลงานจำนวนมาก  ณ  ศูนย์การค้าเซนทรัลพลาซ่า ชั้น 1

อ.ดร.ปิยนัส สุดี  กล่าวว่า  “การจัดนิทรรศการสื่อการศึกษาทางการแพทย์ ของนักศึกษาครั้งนี้นับเป็น ครั้งที่ 22 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา วิชานิทรรศการและพิพิธภัณฑ์วิทยาทางการแพทย์ ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2562 เป็นการนําผลงานในรายวิชาโครงงานและปฏิบัติจากวิชาต่างๆ ของนักศึกษา อาทิเช่น การเขียนภาพทางการแพทย์ การถ่ายภาพทางการแพทย์ โทรทัศน์ทางการแพทย์ การผลิตหุ่นจําลองและสิ่งเลียนแบบทางการแพทย์ และรายวิชาอื่นๆ มาจัดแสดง ทั้งนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้ทดลองฝึกการจัดนิทรรศการ เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์การทํางานร่วมกันเป็นทีม อีกทั้งเป็นการแนะแนวการศึกษาต่อสําหรับผู้สนใจที่จะเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนี้อีกด้วย”

นางสาวภัสชล บุญธรรม  ประธานโครงการฯ กล่าวว่า  “การจัดนิทรรศการสื่อการศึกษาทางการแพทย์ ของนักศึกษาครั้งนี้นับเป็น ครั้งที่ 22 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ในรายวิชานิทรรศการและพิพิธภัณฑ์วิทยาทางการแพทย์ ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2562 เป็นการนําผลงานในส่วนที่เป็นรายวิชาโครงงานและภาคปฏิบัติจากวิชาต่างๆ ของนักศึกษา อาทิเช่น การเขียนภาพทางการแพทย์ การถ่ายภาพทางการแพทย์ โทรทัศน์ทางการแพทย์ การผลิตหุ่นจําลองและสิ่งเลียนแบบทางการแพทย์ และรายวิชาอื่นๆ มาจัดแสดง ทั้งนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้ทดลองฝึกการจัดนิทรรศการ เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์การทํางานร่วมกันเป็นทีม อีกทั้งเป็นการแนะแนวการศึกษาต่อสําหรับผู้สนใจที่จะเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนี้ อีกด้วย โดยได้มีการแบ่งการทำงานออกเป็นแต่ละฝ่าย ได้แก่  ฝ่ายสถานที่  ฝ่ายออกแบบ  ฝ่ายการเงิน  ฝ่ายจัดหาทุน  ฝ่ายประชาสัมพันธ์  ฝ่ายประเมินผล  ฝ่ายพิธีการและกิจกรรมพิเศษ  ฝ่ายเลขานุการ  และฝ่ายโสตทัศนูปกรณ์  การจัดนิทรรศการครั้งนี้ จะมีไปจนถึงวันที่ 11 กันยายน 2562 โดยได้รับการสนับสนุน และเอื้อเฟื้อสถานที่จากศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าขอนแก่นเป็นอย่างดี”

รศ.กมลวรรณ เจนวิถีสุข ประธานพิธีเปิด กล่าวว่า  “งานนิทรรศการสื่อการศึกษาทางการแพทย์ ของนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเวชนิทัศน์ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น งานในครั้งนี้เป็นการนําผลงานของนักศึกษาในส่วนที่เป็นภาคปฏิบัติต่างๆ เช่น การเขียนภาพทางการแพทย์ การถ่ายภาพทางการแพทย์ กราฟิกทางการแพทย์ สื่อประสมหุ่นจําลอง และ สิ่งเลียนแบบทางการแพทย์ โทรทัศน์ศึกษาทางการแพทย์ ความรู้พื้นฐานสําหรับเทคโนโลยีการศึกษาและสื่อการศึกษาอื่นๆ ที่สามารถนํามาใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีความจํา เป็นมากขึ้นในการศึกษาทางการแพทย์ในปัจจุบันและอนาคต นอกจากเป็นการสะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพ ในการเรียนการสอนของหลักสูตรนี้ ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถ ของนักศึกษาได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็น การเผยแพร่และกระตุ้นให้ผู้มาชมนิทรรศการเกิดความสนใจที่จะเข้ามาศึกษาต่อในหลักสูตรนี้มากขึ้น หวังว่านักศึกษาและผู้สนใจคงได้รับความรู้จากนิทรรศการครั้งนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมต่อไปในอนาคต”

นางสาวอรวรรณ  ศรีนาค  เจ้าของผลงาน “หนังสือพร้อมสื่อ AUGMENTED REALITY (AR BOOK)ร่วมกับการเรียนแบบร่วมมือในรายวิชาวิทยาศาสตร์”  1 ใน 27 ชิ้นงานที่นำผลงานมาแสดง  กล่าวว่า  “โครงการที่นำมาแสดงในวันนี้  ได้ทำเป็นหนังสือพร้อมสื่อ AUGMENTED REALITY หรือ AR Book ในรายวิชาวิทยาศาสตร์เรื่องระบบร่างกายของมนุษย์  โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนระดับประถมศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษา   โดยกำหนดเนื้อหาของหนังสือประกอบด้วยระบบต่าง ๆ ในร่างกาย จำนวน 9 ระบบ ซึ่งมีรายละเอียดวิธีการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ และหน้าที่ของอวัยวะต่าง ๆ  จุดเด่นของชิ้นงานคือ สามารถจัดการสแกน AR Book ได้มีลักษณะเป็น 3 มิติ โดยใช้แอพพลิเคชั่น We Play ในการสแกน และโมเดล 3 มิติก็จะโผล่ขึ้นมาและสามารถหมุนได้ 360 องศาด้วย”

“โครงการนี้ใช้ระยะเวลาในการทำงาน ทั้งหมด 1 เดือนครึ่ง แต่รายละเอียดที่ใช้เวลามากคือการวาดภาพประกอบในหนังสือ โดยวาดด้วยตนเอง 95%  ส่วนขั้นตอนการปั้น 3D แล้วนำไปอัพในแอปพลิเคชันใช้เวลา 2 สัปดาห์  ซึ่งได้แนวคิดมาจากที่พบว่า AR มีอยู่โดยทั่วไป แต่ไม่พบว่ามี AR ที่ให้ความรู้ทางด้านการเรียน จึงนำเอา AR มารวมกับการเรียน จึงกลายเป็นหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา  ที่เป็นจุดเด่นอย่างมากคือ สามารถดึงดูดความสนใจให้กับเด็กนักเรียนให้อยากหาความรู้ด้วยตนเองตลอดเวลา  และอยากรู้ต่อยอดตนเองต่อไปว่าอวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้ทำงานได้อย่างไรต่อไป  ซึ่งจากการประเมินผลก่อนเรียนและหลังเรียนของเด็กนักเรียนที่ได้ไปทดลองนำหนังสือ AR ไปใช้ในการเรียน  พบว่า ความก้าวหน้าทางด้านการเรียนของนักเรียนจากรูปแบบ AR ได้ผลดีมากกว่าเรียนแบบปกติ อยู่ในเกณฑ์มากถึงมากที่สุด  และในอนาคตจะวางแผนวางหนังสือเพื่อจำหน่าย เพราะไม่ค่อยมีสื่อการเรียนที่ผสมกับ AR   โดยจะปรับปรุงแก้ไขหนังสือให้สามารถวางขายได้ในอนาคต” นางสาวอรวรรณ  ศรีนาค  กล่าวในที่สุด

จากนั้น  มีการเสวนา  “Talk Show” เรื่อง “ภาวะซึมเศร้า”  โดย นพ.เอกอาซาน  โควสุภัทร์  แพทย์ใช้ทุนภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  และ นางสาวกมลพร  วรรณะประเก  นักประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์  เป็นการให้ความรู้ที่เข้าใจง่าย และสร้างความเข้าใจการอยู่ร่วมกันสำหรับผู้มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า  ซึ่งแม้ผู้ป่วยจะดูแลตนเองได้ แต่ควรได้รับการประเมินและการรักษาจากแพทย์ด้านจิตเวช  เนื่องจากเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้เหมือนโรคทั่วไป

นับว่าโครงการ การจัดนิทรรศการสื่อการศึกษาทางการแพทย์ ที่หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จัดขึ้นในครั้งนี้  ตอบโจทย์ของหลักสูตรในด้านการผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถในด้านเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ มีทักษะ ประสบการณ์ การฝึกปฏิบัติและการแก้ปัญหา เพื่อให้พร้อมสำหรับการทำงานจริง โดยในเนื้อหาของหลักสูตรนักศึกษาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ชั้นปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 1 มีวิชานิทรรศการและพิพิธภัณฑ์วิทยาทางการแพทย์ ทำให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์การการทำงานที่จำลองการทำงานจริงด้วยตนเอง ได้ฝึกทักษะการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง  และได้นำผลงานในวิชาเรียนการผลิตสื่อทางการแพทย์รวมไปถึงการนำความรู้ที่ได้เรียนมาตั้งแต่ปีที่ 1-3   เช่น วิชาการผลิตงานถ่ายภาพทางการแพทย์ วิชาออกแบบกราฟิกคอมพิวเตอร์ทางการแพทย์ วิชาการผลิตภาพเคลื่อนไหวทางการแพทย์ วิชาการผลิตหุ่นจำลองทางการแพทย์ และวิชาอื่นๆ  นำมาสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างน่าสนใจ และเป็นประโยชน์อย่าง  ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์และเกิดประโยชน์ต่อสังคมอีกด้วย

Scroll to Top