อธิการบดี มข. พบปะคณะเทคโนโลยี ชื่นชมการคิดค้นผลิตภันฑ์ใหม่ๆ พร้อมผลักดันสู่ตลาดการส่งออก

อธิการบดี มข. พบปะผู้บริหารและบุคลากรคณะเทคโนโลยี ชื่นชมการคิดค้นผลิตภันฑ์ใหม่ๆ พร้อมสนับสนุนการส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ

วันที่ 1 มิถุนายน 2563 รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการแทนอธิการบดี นำทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ผศ.ณัฐพัชญ์ อนันต์ธีระกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษา ผศ.ดร.สมพงษ์ สิทธิพรหม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรักษาความปลอดภัย และอาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มข.

เข้าเยี่ยมและรับฟังนโยบายคณะเทคโนโลยี มข. เพื่อรับฟังนโยบายและให้ข้อคิดเห็นในการบริหารของคณะ และการทำวิจัย การบริการวิชาการ รวมถึงการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนในช่วงวิกฤติการณ์โควิด-19 โดยมี รศ.ดร.พรเทพ ถนนแก้ว คณบดี พร้อมด้วยผู้บริหาร และบุคลากรคณะเทคโนโลยี ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม ชั้น 1 อาคาร TE06 คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ในช่วงแรก รศ.ดร.พรเทพ ถนนแก้ว คณบดี คณะเทคโนโลยี มข. ได้นำเสนอแผนการบริหารงานของคณะ ผลงานด้านต่างๆ และปัญหาอุปสรรคของทางคณะ และหน่วยงานในสังกัด แก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อรับทราบและหาแนวทางการพัฒนาร่วมกัน ทั้งประเด็นการบริหารจัดการ การเรียนการสอน การบริการวิชาการ การผลิตบัณฑิตที่เพียบพร้อมสู่ตลาดงาน รวมถึงไปถึงการวิจัย ที่มุ่งเน้นไปทางเทคโนโลยีอาหาร การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของพืช และเทคโนโลยีธรณี จะเน้นการสำรวจ ค้นหาวิเคราะห์ทำความเข้าใจและสร้างแบบจำลอง พร้อมทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน หิน แร่ น้ำใต้ดิน และสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะนำเอาทรัพยากรเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ คณะเทคโนโลยี มข. ได้พยายามขับเคลื่อนแนวทางประสบการณ์ที่พร้อมจะปฏิบัติงานในวิชาชีพ การพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง รวมถึงทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตของนักศึกษา สำหรับการมาตรการการควบคุมและป้องกันไวรัสโควิด-19 ในรายวิชาทั่วไปเราเน้นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ส่วนวิชาปฏิบัติการ ทางคณะเน้นการเรียนในชั้นเรียน โดยให้แต่ละสาขาวิชาพิจารณาการแบ่งกลุ่มย่อยเพิ่มเติม และมีมาตรการควบคุมและป้องกัน Physical distancing มีอุปกรณ์ Face Shield แจกนักศึกษา และบุคลากรทุกคน ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากศิษย์เก่าของคณะ ส่วนรูปแบบการประเมินผลจะเน้นในรูปแบบออนไลน์ให้มากที่สุด

อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญซึ่งทางคณะกำลังดำเนินการอยู่ คือโปรดักชั่นเฮ้าส์ เป็นมติของทางคณะว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันหรือยุค new normal ซึ่งสอคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย รวมถึงการปรับปรุงห้องเรียนให้ทันสมัย รองรับภารกิจด้านการเรียนการสอน อีกทั้งการช่วยเหลือสนับสนุนทุนการศึกษา สำหรับนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย

หลังจากนั้น รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการแทนอธิการบดี ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการเดินทางมาพบปะผู้บริหาร อาจารย์และบุคลากร ว่า “ตามนโยบายการบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในด้านการสนับสนุนการทำงานของคณะ เพราะผลงานของมหาวิทยาลัยนั้นแท้จริงแล้ว อยู่ที่คณะ ผลงานของคณะในหลายคณะจะรวมกัน เป็นผลงานมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัย มีหน้าที่มารับฟังปัญหาและอุปสรรค แล้วนำไปแก้ไขและให้การสนับสุน

ปัจจุบันเนื่องจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมียุทธศาสตร์พัฒนาวิกฤต ที่ทั่วไปเรียกว่าวิกฤตการศึกษาไทย เรามียุทธศาสตร์ KKU Transformations  ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นอาจจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี เรื่องของจำนวนนักศึกษาที่น้อยลง เรื่องของงานวิจัยที่แหล่งทุนจะเปนผู้กำหนดทิศทางการวิจัย รวมทั้งระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังคงมีความก้าวหน้าและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ขอชื่นชมคณะเทคโนโลยีที่สร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพอย่างมากมาย จากคณะระดับ S คือขนาดเล็ก ก่อตั้งมา 36 ปี และตอกย้ำถึงคุณภาพ โดย ศ.ดร.อลิศรา เรืองแสง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะเทคโนโลยี ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2563 สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ เป็นความภาคภูมิใจของคณะเทคโนโลยี่ และเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีนักวิจัย ที่มีผลงานอันโดดเด่น ซึ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากพลังความร่วมแรงร่วมใจของผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากร ที่ทำให้เกิดขึ้นมาได้

อีกหนึ่งจุดเด่นของคณะเทคโนโลยี มข. คือการมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ ในหลายๆ แห่ง และได้ใช้ประโยชน์กับคู่ความร่วมมือต่างๆ นับว่าเป็นสิ่งที่ดี รวมถึงคณะเทคโนโลยีได้ผลิตผลิตภัณฑ์ มากกว่า 20 ชนิด ที่สามารถจะนำไปสู่การขายเชิงพาณิชย์ และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ และมีนวัตกรรมอีกมากมาย ทางมหาวิทยาลัยมีความต้องการสนับสนุนให้ทางคณะเทคโนโลยี ผลักดันผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นขึ้นได้ ส่งออกจำหน่ายยังต่างประเทศ อาทิ ประเทศจีนเป็นต้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าทายอย่างยิ่งของคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ข่าว/ภาพ: บริพัตร ทาสี

Scroll to Top