สำนักหอสมุด พัฒนานวัตกรรมตู้ปันสุข (SMART PANTRY OF SHARING) ด้วยเทคโนโลยี IoT

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 ได้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆเกิดขึ้นจากความช่วยเหลือของภาครัฐและเอกชน จากกระแสข่าวเกี่ยวกับการจัดทำตู้ปันสุขขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น และจังหวัดขอนแก่น ได้จัดตั้งตู้ปันสุขทั้งในเขตเมือง ชุมชน และภายในมหาวิทยาลัย เพื่อแบ่งปันอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ในฐานะที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีพื้นที่ให้บริการ KKU Maker Space จึงได้เล็งเห็นถึงการพัฒนานวัตกรรมนำ IoT เข้ามาติดตั้งที่ตู้ปันสุข เพื่อสามารถเก็บข้อมูลของผู้ให้และผู้รับ ทำให้เห็นข้อมูลหรือแนวโน้มของการใช้งานตู้ปันสุขนี้ นำทีมโดย รศ.ดร.รวี หาญเผชิญ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะกรรมการ Smart City Operational Centre เสนอไอเดียและสนับสนุนทุนการดำเนินงาน นายภานุวัตร อุทัยบาล นักเอกสารสนเทศ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักศึกษาระดับปริญญาโท และนักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 3 วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมกันคิดค้น ออกแบบ ตู้ปันสุขบนแนวคิด “ตู้ปันสุข หยิบไปแต่พอดี หมดช่วยกันเติม เสริมเทคโนโลยี IoT”

 นายภานุวัตร อุทัยบาล นักเอกสารสนเทศ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงรายละเอียดของการพัฒนาตู้ปันสุขนี้ว่า อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบด้วย sensor ultrasonic ช่วย ควบคุม เสียงและไฟอัตโนมัติ กรณีที่มีคนอยู่ในระยะ 1- 50 เซนติเมตร  ระบบเสียงอัตโนมัติ ปุ่มกดเติมสุข เพื่อกดแสดงตน นับจำนวน ผู้ให้, ผู้รับ เชื่อมต่อ wifi ด้วย Arduino board (esp32) มีหน้า dashboard แสดงผลทันที ซึ่งจะทดลองติดตั้งจำนวน 2 จุด ได้แก่ 1. ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ( บขส.2 ปรับอากาศ จังหวัดขอนแก่น ) 2. โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น

 นายคมสัน สายัณห์ นักศึกษาระดับปริญญาโท วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ผู้ออกแบบและพัฒนาด้าน hardware กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมตู้ปันสุขในครั้งนี้สามารถต่อยอดและควรจะแยกหมวดหมู่ได้ว่า ของชนิดต่างๆ ในตู้เหลือมากน้อยแค่ไหน เพื่อจะได้ทราบความต้องการ ของคนในพื้นที่เพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูลต่อไปได้ เพราะเราควบคุมคนไม่ได้ แต่เราใช้เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาได้ และ นายพรบัญชา ต้นจันทร์ นักศึกษาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ปริญญาตรี ชั้นปีที่ 3 ได้เพิ่มเติมว่าควรเสริมที่กดเจล อัตโนมัติ มีจอแสดงผล LCD บอกสถานะ และมีพัดลมระบายอากาศ ช่วยระบายของที่มีกลิ่น

ซึ่งผลงานการพัฒนาตู้ปันสุขนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในช่วงวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสำนักหอสมุด เป็นส่วนหนึ่งในการแนะนำการใช้อุปกรณ์ และศึกษาควบคู่ไปกับเรียนการสอน ประยุกต์ใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สนใจพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมต่างๆได้ที่ KKU Maker Space สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น https://www.facebook.com/KKUMakerspace

รศ.ดร.รวี หาญเผชิญ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะกรรมการ Smart City Operational Centre

ข่าว: นางสาวนิติยา ชุ่มอภัย

ภาพ: นายภานุวัตร อุทัยบาล

Scroll to Top