วันที่ 13-17 กุมภาพันธ์ 2568 ด้วยสมาคมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งอินโดนีเซีย หรือ Indonesian Young Scientist Association (IYSA) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยรัฐแห่งมาลัง (State University of Malang) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้จัดกิจกรรมการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์นานาชาติสำหรับเยาวชน ครั้งที่ 5 (5th Youth International Science Fair 2025) หรือ 5th YISF 2025 ในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา นักศึกษามหาวิทยาลัย และบุคคลทั่วไป (ครู อาจารย์ นักวิจัย บริษัท สถาบัน องค์กร) จากทั่วโลกได้มีโอกาสนำเสนอโครงงาน เผยแพร่ผลงานนวัตกรรม ผลงานวิจัย และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งแบ่งการแข่งขันออกเป็น 5 สาขา ได้แก่ Social Science , Environmental Science , Innovation Science , Life Sciences และ Engineering โดยมีทีมผู้เข้าร่วมการแข่งขัน 133 ทีม จาก 13 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเทศไทย สาธารณรัฐออสเตรีย สาธารณรัฐคาซัคสถาน สหพันธรัฐมาเลเซีย สหรัฐเม็กซิโก สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ราชอาณาจักรโรมาเนีย สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐทูร์เคีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ในโอกาสนี้ นักเรียนทีมโครงงานวิทยาศาสตร์จากประเทศไทย ชุมนุมโครงงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) คว้ารางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) สาขา Innovation Science โครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง “Empowering Bedridden Children with AI-Driven Exercise Support” ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์นานาชาติสำหรับเยาวชน ครั้งที่ 5 (YISF 2025) นักเรียนผู้พัฒนาโครงงาน ได้แก่ นายณัฐภัทร ศรีจันทร์ นายฉันทวัฒน์ เนสุสินธุ์ และ นายทักษ์ดนัย ทวีรุ่งศรีทรัพย์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน ได้แก่ ศ.ดร.วนิดา แก่นอากาศ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ และ อ.สมโชค แก้วอุทัศน์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) อาจารย์ผู้ส่งเสริม ผู้ร่วมพัฒนา และผลักดันนักเรียนด้านโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับชาติ และนานาชาติ โดยขับเคลื่อนในรูปแบบของชุมนุมโครงงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
อนึ่ง โครงงานวิทยาศาสตร์ดังกล่าว จะประสบความสำเร็จได้นั้นเนื่องได้รับการสนับสนุนบุคลากรอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ อุปกรณ์ เครื่องมือ และองค์ความรู้จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ก้าวสู่อนาคตแห่งปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีอัจฉริยะ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดสอนในระดับปริญญาตรี-โท-เอก มุ่งผลิตวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมล้ำยุค ตอบโจทย์โลกดิจิทัล และได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นภารกิจหลักในการส่งเสริมนักเรียน อีกทั้งได้รับคำปรึกษาคำแนะนำจาก รศ.พญ.ลีลาวดี เตชาเสถียร และ รศ.นพ.รัฐพล อุปลา อาจารย์ประจำสาขาวิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคเด็ก จึงนำไปสู่การวางแผนการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ พัฒนาผลงานเป็นนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ช่วยในวงการแพทย์เป็นผลสำเร็จ
และในวันศุกร์ ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 ทางโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) ได้จัดพิธีเชิดชูเกียรติชื่นชมยินดี มอบรางวัลเกียรติบัตรให้กับนักเรียนและอาจารย์ที่ปรึกษาที่สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน ด้านโครงงานวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ระดับชาติ นานาชาติ โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ศราวุธ จักรเป็ง รองคณบดีฝ่ายโรงเรียนสาธิตและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ปฏิบัติการแทนคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มอบเกียรติบัตรให้กับนักเรียนและอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานในครั้งนี้ รวมทั้ง อ.สุเนตร ศรีบุญเลิศ รักษาการแทนรองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) และคณะผู้บริหาร ร่วมแสดงความชื่นชมยินดีกับนักเรียนและอาจารย์ที่ปรึกษาที่สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน มหาวิทยาลัย และประเทศชาติ
KKU’s Demonstration School Students’ AI Innovation Wins Gold, Empowering Bedridden Children