วิศวะ มข. กับความท้าทายใหม่ มุ่งวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ ตอบโจทย์โรคอุบัติใหม่โควิด-19

อธิการบดี เข้าเยี่ยมและรับฟังนโยบายคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณบดีเผยความท้าทายใหม่ มุ่งวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ ตอบโจทย์โรคอุบัติใหม่โควิด-19

วันนี้ 15 พฤษภาคม 2563 เวลา 09.00 น. รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัย ได้แก่ รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ผศ.ดร.สมพงษ์ สิทธิพรหมผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรักษาความปลอดภัย และ ผศ.อัจฉราวรรณ โตภาคงาม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ เข้าเยี่ยมและรับฟังนโยบายคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อรับฟังนโยบาย การบริหารองค์กร โดยมี รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยผู้บริหาร และบุคลากรคณะวิศวกรรมศาสตร์ ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมสัมมนา 2 ชั้น 9 อาคารเพียรวิจิตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า “จากสถานการณ์โลกที่กำลังเผชิญอยู่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ต้องปรับตัวกับความท้าทายใหม่ของคณะ โดยมุ่งการวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อตอบโจทย์โรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 ทั้งนี้ ได้รวบรวมสรรพกำลังในการสร้างนวัตกรรม จากคณะอาจารย์ นักศึกษา ศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่า ร่วมกับทางคณะแพทยศาตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการสร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วย และอำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ให้ทันต่อการใช้งาน

นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ที่ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. ได้สร้างขึ้นจะมีราคาต้นทุนต่ำกว่าที่มีขายตามท้องตลาด และใช้งานได้ประสิทธิภาพดี ปัจจุบัน มีนวัตกรรมที่พัฒนาสมบูรณ์แล้ว และอยู่ระหว่างการพัฒนา มากกว่า 10 นวัตกรรม อาทิ Temporary Negative Pressure Room ห้องสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลหรือประยุกต์เป็นเต้นท์สนามได้ Negative Patient Transfer Unit เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ เพื่อลดการแพร่กระจายโรคระหว่างเคลื่อนย้ายผู้ป่วย อุโมงค์ฆ่าเชื้อโควิด-19 ชุด Wireless Stethoscope เครื่องต้นแบบฟังเสียงปอดคนไข้ระยะไกล ตู้อบฆ่าเชื่อ UVC (254 nm.60watt) ฉากกั้น Droplets สำหรับการเก็บตัวอย่างตรวจเชื้อโควิด-19 PAPR (Powered Air-Purifying Respirator) PPE (Personal Protective Equipment)

จากความท้าทายของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. เราได้กำหนดคู่เทียบเพื่อจะได้ก้าวไปสู่ระดับโลกทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยกำหนดประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม เป็นคู่เทียบในระดับอาเซียน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นคู่เทียบในระดับประเทศ ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์

นอกจากนั้น รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร ยังได้กล่าวรายงานถึงการบริหารงานคณะที่ผ่านมา รวมถึงมาตรการในช่วงโควิด-19 ทั้งด้านการเรียนการสอน การทดลองในห้องปฏิบัติการ การทำงานของบุคลากร และความช่วยเหลือต่าง ๆ รวมทั้งทิศทางการบริหารของคณะที่มุ่งไปสู่ระดับโลกทางด้านวิศวกรรมศาสตร์

ทั้งนี้ รักษาการแทนอธิการบดี ได้เป็นตัวแทน “เครือข่ายวิศวะมอดินแดงต้านภัยโควิด” ส่งมอบ ตู้อบฆ่าเชื้อ Negative Patient Transfer Unit เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ เครื่องผลิต Hydroxyl เพื่อฆ่าเชื้อไวรัส และเครื่องกดเจลล้างมือด้วยเท้าลดการสัมผัส ให้โรงพยาบาลที่ยังขาดแคลน โดยงบประมาณการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ มาจากการร่วมกันบริจาคเงินและสิ่งของ เพื่อช่วยสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลที่ยังขาดแคลน และยังได้ร่วมกันกับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเติมอาหารใส่ตู้ปันสุขที่ตั้งบริเวณตึกเพียรวิจิตร คณะวิศวกรรมศาสตร์

Scroll to Top