เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีเปิดงาน “การเปิดชั้นเรียนระดับชาติ (National Open Class) ครั้งที่ 18” โดยมี นายประจวบ รักแพทย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย รองประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมปาฐกถาพิเศษ ในการนี้มีผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วมงานทั้งในรูปแบบ Onsite และ Online รวมกว่า 600 คน ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผศ.ดร.พงศ์ธนัช แซ่จู ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน กล่าวว่า “การเปิดชั้นเรียนระดับชาติครั้งที่ 18 นี้ สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการยกระดับคุณภาพการศึกษาที่ลงลึกถึงระดับห้องเรียน ผ่านนวัตกรรม TLSOA (Thailand Lesson Study incorporated with Open Approach) ซึ่งได้พิสูจน์ความสำเร็จจากการขยายผลไปแล้วกว่า 300 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดขอนแก่นที่มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการพัฒนาตนเอง (TSQP) จำนวน 52 โรงเรียน และแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนทั้งในระดับโรงเรียน ครู และนักเรียน นวัตกรรมนี้ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องกว่า 15 ปี โดยศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาครูในศตวรรษที่ 21 และสร้างสมรรถนะสำคัญให้กับผู้เรียน ทั้งด้านการคิดขั้นสูงและการสื่อสาร”
รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย รองประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวในปาฐกถาพิเศษว่า “นวัตกรรม TLSOA ถือเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่สามารถพัฒนาระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ในยุคดิจิทัล ซึ่งต้องอาศัยการตัดสินใจบนพื้นฐานของการคิดขั้นสูง (Higher-order Thinking) ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยี การจัดงานครั้งนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แต่ยังเป็นการขยายผลนวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศในระยะยาว ที่สำคัญ ยังนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาวิชาชีพครูอย่างยั่งยืน”
นอกจากนี้ รศ.ดร.กิตติชัย ได้ระบุว่า หลักสูตรต้อง focus เฉพาะทางให้มากขึ้น ด้านการเรียนการสอน ต้องผสมผสานหลายๆวิธีเข้าด้วยกัน เพราะจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น ต้องสร้างความสนุก เพราะจะทำให้ เกิดการจดจำได้นานขึ้น กิจกรรมการเรียนต้องสามารถเชื่อมโยงเนื้อหาเข้ากับชีวิตจริง การสอนผ่านกิจกรรมและการลงมือทำ Hand on Learning ต้องกระตุ้นให้เด็กถามและคิดเอง ขณะเดียวกันต้อง กระตุ้นให้เด็กมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ สร้างบรรยากาศการเรียนที่ผ่อนคลายและเป็นมิตร
การจัดงานครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการคิด สมาคมคณิตศาสตร์ศึกษา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีไฮไลท์สำคัญคือการเปิดชั้นเรียน 3 ด้านหลัก ได้แก่ Creative Thinking Skills, Unplugged Computational Thinking Skills และ Computational Thinking Skills เพื่อพัฒนาทักษะการคิดและการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21