นวัตกรรมไทยเพื่อการนอนที่ดีกว่า: “นอนแซ่บ” คว้ารางวัลระดับประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วย OSA

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นสร้างชื่อเสียงในเวทีระดับประเทศ ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ศูนย์ นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา โดยคว้ารางวัลเหรียญทองจากการแข่งขัน Thailand New Gen Inventors Award 2025 และรางวัลชนะเลิศในกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ ระดับอุดมศึกษา ด้วยนวัตกรรม “นอนแซ่บ” อุปกรณ์ทันตกรรมที่ช่วยลดการกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจำนวนมาก

จากแนวคิดสู่ความสำเร็จ: นวัตกรรมที่พัฒนาจากความมุ่งมั่น
ผศ.ดร.ทพญ.สุพรรณิการ์ เรืองศรี สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์ช่องปาก คณะทันตแพทยศาสตร์ อาจารย์ที่ปรึกษา ร่วมกับทพญ.คัทฬิยา เลาหพจนารถ และ ทพญ.ชลลดา ชำนัญมนูญธรรม นักศึกษาทันตแพทย์ประจำบ้าน ทันตกรรมบดเคี้ยวและความเจ็บปวดช่องปากใบหน้า ได้นำแนวคิดจากโครงการวิจัยนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่เริ่มต้นในปี 2563 พัฒนาอย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่นจนสามารถนำไปใช้จริงกับผู้ป่วยของคลินิกความเจ็บปวดใบหน้าช่องปากและทันตนิทราเวช คณะทันตแพทยศาสตร์ ในปี 2567 สะท้อนถึงศักยภาพของงานวิจัยที่สามารถพัฒนาและประยุกต์ใช้ทางคลินิกได้อย่างเป็นรูปธรรม

“นอนแซ่บ” นวัตกรรมที่สะท้อนอัตลักษณ์อีสาน
ชื่อ “นอนแซ่บ” ไม่เพียงสะท้อนถึงรากเหง้าวัฒนธรรมอีสาน แต่ยังสื่อถึงความหมายที่ลึกซึ้งว่า “นอนอร่อย นอนหลับสบาย” นวัตกรรมนี้ได้รับการรับรองอนุสิทธิบัตร และได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประเภท Fundamental Fund ประจำปีงบประมาณ 2565 นอกจากนี้ยังเป็นผลลัพธ์ของการทำงานร่วมกันระหว่างคณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) โดยมีทีมอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม ได้แก่ รศ.ดร.ทพ.ฑีฆายุ พลางกูร จอร์นส, รศ.ดร.ทพ.จรินทร์ ปภังกรกิจ, รศ.ดร.ทพ.พูนศักดิ์ ภิเศก, ผศ.ดร.ทพญ.รัชฎา เหมือนจิต, ศ.ดร.นพ.กิตติศักดิ์ สวรรยาวิสุทธิ์, ผศ.พญ.สุภวรรณ เลาหศิริวงศ์, ผศ.นพ.อภิชาติ โซ่เงิน และ ดร.ยศกร ประทุมวัลย์

ก้าวสำคัญของนวัตกรรมไทยสู่การใช้งานที่แพร่หลายในอนาคต
ความสำเร็จของ “นอนแซ่บ” ไม่เพียงนำมาซึ่งรางวัลเหรียญทอง ถ้วยรางวัล แต่ยังเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัยไทยในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่ ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพของประชาชน และทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ รวดเร็ว และราคาไม่แพง อย่างไรก็ตาม การนำไปสู่การใช้งานอย่างแพร่หลายจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Scroll to Top