กระทรวงอุดมศึกษา เร่งช่วยผู้รับกระทบโควิด-19 จ้างงานคนละ 9,000 บาท นาน 6 เดือน 8 จว.อีสานอีสาน เลือก มข.เป็นแม่ข่ายบริหารจัดการ

กระทรวง อุดมศึกษาฯ เร่งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 จ้างงาน คนละ 9,000 บาท นาน 6 เดือน 8 จังหวัดภาคอีสาน เลือก มข.เป็นแม่ข่ายบริหารจัดการ “ชาญชัย” ย้ำชัด ทำทันที เพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน คนที่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทหมดสิทธิ์

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 29 เมษายน 2563 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  นายกมลพงษ์ สงวนตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น  นายทรงศักดิ์ ทองไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น นายยอดยิ่ง จันทนพิมพ์ ประธานสมาคมสันนิบาตเทศบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแพทย์หญิงทานทิพย์ ธำรงวรางกูล ประธานมูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีจังหวัดขอนแก่น ร่วมกันแถลงข่าวการดำเนินโครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตรกรรม หรือ อว. ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดทำขึ้นในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท่ามกลางความสนใจจากหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำองค์กรภาคเอกชน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินทุกมาตรการเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด ควบคู่ไปกับการกำหนดมาตรการเยียวยาและให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ซึ่งโครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งมาตรการการให้ความช่วยเหลือที่กระทรวง อว. ร่วมกับ มข. ได้กำหนดแผนการดำเนินงานร่วมกันในพื้นที่ 8 จังหวัด

โดยมีพื้นทีเป้าหมายในการดำเนินโครงการ 300 พื้นที่ ด้วยการจ้างงาน 1,325 คน ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ หนองคาย ร้อยเอ็ด มหาสารคาม หนองบัวลำภู เลย และชัยภูมิ ในอัตราการจ้างเดือนละ 9,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อรองรับผลกระทบจากวิกฤติ และการพัฒนากำลังคนให้มีทักษะที่สูงขึ้นเพื่อรองรับ และตอบโจทย์ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) หลังโควิด ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการนั้น จะปฏิบัติหน้าที่ในงานด้านข้อมูล งานด้านวิเคราะห์และทำแผน งานด้านวิชาการและการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยที่ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาทไปแล้วจะไม่ได้รับการพิจารณาเข้าร่วมในโครงการนี้

ขณะที่ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน คือกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ว่างงานซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 รวมทั้งผู้สำเร็จแล้วแต่ยังหางานทำไม่ได้ ที่สนใจในการพัฒนาทักษะการทำงานใหม่ๆ จนนำไปสู่การต่อยอดความรู้ และร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนอย่างมีแบบแผน มีการพัฒนาแนวคิดที่เป็นต้นแบบและกลายเป็นทรัพยากรบุคคลสมัยใหม่ที่จะเกิดขึ้น ที่ในขณะนี้ มข.ได้ทำการเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้ว โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือประชาชนทั่วไป รวมทั้งบัณฑิตจบใหม่ที่ยังไม่มีงานทำ หรือผู้ที่จะเป็นผู้ประกอบการ ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ หนองคาย ร้อยเอ็ด มหาสารคาม หนองบัวลำภู เลย และชัยภูมิ ที่มีความสนใจในการพัฒนาทักษะการทำงานใหม่ๆ และไม่เป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างการกักตัวตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค โดยในโครงการดังกล่าวนี้ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มอบหมายให้ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

“ผู้ที่สนใจสามารถที่จะศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ www.kkuicop.com ซึ่งทุกคนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ มข.จะพิจารณาดำเนินการคัดเลือกจากข้อมูลของการสมัครและหลักฐานการประกอบการสมัคร โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือก จะจัดการสัญญาจ้างตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ถึงวันที่ 31 ต.ค.2563 ในหน้าที่และความรับผิดชอบ 3 งานหลัก คืองานด้านข้อมูล ที่จะทำหน้าที่ในการติดต่อประสานงานกับประชาชนในพื้นที่ อธิบายขั้นตอนการสำรวจและจัดทำข้อมูลด้านต่าง ๆ อาทิ โรคติดต่อชุมชน โครงการ Smart Farming ในชุมชน เกษตรปลอดภัยในชุมชน การจัดการขยะชุมชน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การบริหารจัดการน้ำชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน และคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ รวมถึงการชี้แจงรายละเอียด ถ่ายทอดองค์ความรู้ เผยแพร่ องค์ความรู้ นวัตกรรมของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและเครือข่ายการเรียนรู้ที่ร่วมกันดำเนินโครงการนี้ อันประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมสันนิบาตเทศบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีจังหวัดขอนแก่น และรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและมีความจำเป็น ทั้งความต้องการปัญหา อุปสรรคเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ ในพื้นที่”

รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวต่ออีกว่า งานด้านวิเคราะห์และทำแผน ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะทำหน้าที่วิเคราะห์และกำหนดแผนดำเนินการร่วมกันกับที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ของ กระทรวงฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอีก 5 เครือข่ายที่ร่วมในแผนงานต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินงาน สุดท้ายคือ งานด้านวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี คือการทำหน้าที่นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตรกรรม ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมสันนิบาตเทศบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีจังหวัดขอนแก่น มาถ่ายทอดหรือฝึกอบรมในชุมชน เพื่อที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการแก้ปัญหาที่เป็นประเด็นสำคัญของพื้นที่ทั้งในเมืองและในชนบท อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

Scroll to Top