25-26 พฤศจิกายน 2567 – คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในนามแม่ข่ายสถาบันผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย 19 สถาบัน จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “The 5th Workshop of Teacher Induction: NextGen Teaching: AI Innovations in Educational Excellence” สำหรับครูผู้ช่วยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น โดยมี รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ในนามประธานแม่ข่าย เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “AI for Lifelong Educators: เสริมพลังครูในยุคการเรียนรู้ไร้ขีดจำกัด” และในอีกหัวข้อ “ครูควรใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ออกแบบจัดการเรียนรู้และวัดประเมินผลการเรียนรู้อย่างไร จึงถูกหลักวิชาการและจริยธรรมวิชาชีพ” โดย ศ.ดร.องอาจ นัยพัฒน์ รองประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น
รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร กล่าวถึงความสำคัญของการใช้ AI ในการพัฒนาการศึกษา โดยเน้นว่า “AI เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนของครู และเสริมสร้างความสามารถให้กับเด็กไทยในการแข่งขันในระดับสากล ครูทุกคนควรใช้ AI เป็นเครื่องมือในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในยุคดิจิทัล และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
โดยการอบรมได้มีการแยกกลุ่มอบรมการใช้เครื่องมือ AI ในการช่วยจัดทำสื่อและแผนการสอนให้กับครูในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม Smart Teacher 1-7 ที่ครอบคลุมทั้งการศึกษาในกลุ่มสาระต่าง ๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ปฐมวัย การศึกษาพิเศษ และอื่น ๆ นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังได้มีโอกาสนำเสนอแผนการสอนที่พัฒนาจากการใช้ AI พร้อมคัดเลือกรับรางวัล “Outstanding Innovations Awards” ซึ่งถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้ครูทุกคนได้นำความรู้ไปพัฒนาการเรียนการสอนในห้องเรียนจริง
โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการคัดเลือกคนดี คนเก่ง ให้เข้ามาศึกษาวิชาชีพครูในสถาบันฝ่ายผลิตที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างครูที่พร้อมด้วยความรู้ ความสามารถ และจิตวิญญาณความเป็นครู เมื่อสำเร็จการศึกษาครูในโครงการฯ จะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในภูมิลำเนาของตน และต้องเข้าร่วมโครงการพัฒนาวิชาชีพในช่วงที่ปฏิบัติงานเป็นครูผู้ช่วย ภายในระยะเวลา 2 ปี สำหรับปี 2565 ครูในโครงการฯ รุ่นที่ 7 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้รับการบรรจุรวมจำนวน 414 คน “The 5th Workshop of Teacher Induction: NextGen Teaching: AI Innovations in Educational Excellence” เป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหลากหลายประเด็นสำคัญ ได้แก่ การวิจัยในชั้นเรียน แนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการเรียนรู้ การอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้และการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายทางวิชาชีพของครูในโครงการฯ ที่ได้รับการบรรจุเป็นครูผู้ช่วยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน