วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุมอาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดพิธีเปิดงาน APEC Khon Kaen 2024 : Second Workshop for Lesson Study 2.0: Unplugged Computational Thinking in APEC Economies โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ลักษมณ สมานสินธุ์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ ผู้แทนปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย Mr. Komatsuzaki Yasutaka รองผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ สำนักเลขาธิการรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (MEXT) ประเทศญี่ปุ่น และ Mr. Yuchi Zhao ผู้ประสานงานเครือข่ายด้านการศึกษา APEC HRDWG Education Network Coordinator ร่วมให้เกียรติในพิธี
ดร.ลักษมณ สมานสินธุ์ กล่าวในพิธีเปิดว่า “การจัดงานครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของสมาชิก APEC และพันธมิตรในการส่งเสริมการศึกษาที่สร้างสรรค์และครอบคลุมในยุคดิจิทัล เป้าหมายไม่เพียงแต่พัฒนาทักษะใหม่ให้กับครูผู้สอนเท่านั้น แต่ยังเตรียมนักเรียนในภูมิภาคให้พร้อมสำหรับความสำเร็จในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะนวัตกรรม ‘การคิดเชิงคำนวณโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์’ ที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะพื้นฐานให้แก่นักเรียนตั้งแต่ระดับการศึกษาในช่วงต้นของชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายหลักของกระทรวง อว. ในการยกระดับภาคการศึกษาและการวิจัยให้ตอบสนองต่อความต้องการในยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ และ Prof. Dr. Masami Isoda จาก University of Tsukuba ประเทศญี่ปุ่น หัวหน้าโครงการ ได้ร่วมกันนำเสนอที่มาของโครงการ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย รองประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และอุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่ได้ให้เกียรติกล่าวแสดงความยินดีต่อการจัดงาน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศ์ธนัช แซ่จู รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “การประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนในกลุ่ม APEC เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของศตวรรษที่ 21 และยุคดิจิทัล โดยมุ่งเน้นการคิดเชิงคำนวณแบบ Unplugged ซึ่งเป็นแนวทางที่สร้างสรรค์ในการพัฒนาทักษะการคิดเชิงคำนวณโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ ที่จะเสริมสร้างครูผู้สอนระดับประถมศึกษาให้มีแนวทางปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ได้จริงเพื่อพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ การแก้ปัญหา และความคิดสร้างสรรค์”
สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการบรรยายพิเศษโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและต่างประเทศ พร้อมกิจกรรมไฮไลท์สำคัญคือการเปิดชั้นเรียน 3 ระดับ ได้แก่ วิชาบันได สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 วิชาสมุดระบายสี สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และวิชาหุ่นยนต์และการเขียนโค้ด สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 130 คน ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์
ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นและสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 20 ปี โดยเริ่มต้นจากโครงการ APEC Lesson Study 1.0 เพื่อพัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนาทักษะการคิดในศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่ปี 2549 และได้พัฒนาต่อยอดสู่ APEC Lesson Study 2.0 ในปี 2561 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการคิดในศตวรรษที่ 21 ด้าน Computational and Statistical Thinking in Digital era เพื่อรองรับการนำ Data Science และ AI approaches มาประยุกต์ใช้ในวงการการศึกษา สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
Groundbreaking APEC Educational Initiative Launches at KKU: Revolutionizing Digital Era Learning