วิศวกรรมศาสตร์ มข. เดินหน้าเต็มกำลัง สร้างนวัตกรรมป้องกัน-บรรเทา-รักษา โควิด-19 เตรียมพร้อมอาจารย์ นักศึกษา เข้าสู่รูปแบบการเรียนการสอนช่วงวิกฤต 

 

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เดินหน้าเต็มกำลัง ผสานความร่วมมือทุกภาคส่วน สร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ แสดงจุดยืนการเป็นที่พึ่งของสังคม พร้อมสนับสนุนความรู้  เงินทุน และบรรเทาทุกข์ อาจารย์ บุคลากร นักศึกษา ให้พร้อมปรับตัวเข้าสู่ช่วงวิกฤต โควิด-19

ในช่วงวิกฤต เชื้อไวรัส โควิด-19 หลายองค์กร ต่างได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา ที่ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โลกที่กำลังเผชิญอยู่  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งไม่ได้มีภาระกิจในเรื่องการเรียนการสอนเท่านั้นที่ต้องปรับตัว แต่ยังต้องมีการบริการวิชาการ เพื่อช่วยเหลือสังคมในยามวิกฤตอีกด้วย จากการเปิดเผยข้อมูลถึงสถานการณ์ปัจจุบันของทางคณะโดยรศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เผยว่า ในปัจุบันทางคณะ ได้มีการ รวบรวมสรรพกำลังในการสร้างนวัตกรรม จากคณะอาจารย์ นักศึกษา ศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่า ร่วมกับทางคณะแพทยศาตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาคีเครือข่ายต่างๆ  ในการสร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วย และอำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ให้ทันต่อการใช้งาน ซึ่งในปัจจุบัน มีนวัตกรรมที่พัฒนาสมบูรณ์แล้ว และอยู่ระหว่างการพัฒนา มากกว่า 10 นวัตกรรม เช่น  Temporary Negative Pressure Room ห้องสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลหรือประยุกต์เป็นเต้นท์สนามได้  Negative Patient Transfer Unit เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ เพื่อลดการแพร่กระจายโรคระหว่างเคลื่อนย้ายผู้ป่วย  อุโมงค์ฆ่าเชื้อโควิด-19  ชุด Wireless Stethoscope เครื่องต้นแบบฟังเสียงปอดคนไข้ระยะไกล   ตู้อบฆ่าเชื่อ UVC (254 nm.60watt) ฉากกั้น Droplets สำหรับการเก็บตัวอย่างตรวจเชื้อโควิด-19  PAPR (Powered Air-Purifying Respirator) PPE (Personal Protective Equipment) เป็นต้น

“นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ที่ทาง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. ได้ทำการคิดค้นขึ้นในครั้งนี้ มีราคาต้นทุนที่ต่ำกว่าที่มีขายตามท้องตลาด โดยราคาที่ประเมินเป็นเพียงค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์เท่านั้น ไม่มีค่าแรงในการคิดค้น เพราะทางคณะและอาจารย์ทุกท่านหวังว่า การผลิตนวัตกรรม จะเป็นการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด และรวดเร็วที่สุด ซึ่งปัจจุบัน มีโรงพยาบาล หน่วยงาน กลุ่มเครือข่ายบริษัททั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ รวมทั้งศิษย์เก่าของทางคณะ มากกว่า 50 หน่วยงาน ได้แจ้งความประสงค์ติดต่อเข้ามาขอให้คณะจัดทำและผลิตนวัตกรรม เพื่อไปบริจาคยังหน่วยงานที่ขาดแคลน ซึ่งทางคณะก็ได้มีการจัดคณะทำงานจากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งศิษย์เก่าของทางคณะ เพื่อผลิตนวัตกรรมเหล่านี้ให้ได้รวดเร็วที่สุด โดยมีผู้เชี่ยวชาญของทางคณะเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพและประสิทธิภาพของนวัตกรรรม ก่อนส่งไปยังหน่วยงานที่ต้องการ ซึ่งถ้าหากมีหน่วยงานหรือองค์กรใด ต้องการสั่งซื้อ หรือ ต้องการช่วยเหลือ บริจาคเป็นวัสดุอุปกรณ์ต่างๆในการผลิตนวัตกรรม ก็สามารถติดต่อเข้ามาโดยตรงที่เบอร์โทรศัพท์ 0819891983 ซึ่งทางคณะยินดีที่จะเป็นสื่อกลางในการอำนวยความสะดวกทุกท่าน”  คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. กล่าว

ด้านแนวทางในการเตรียมพร้อมสำหรับการเรียนการสอน เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 นั้น ทางคณะได้จัดทำประกาศให้เลื่อนการสอบออกไป เป็นช่วงเดือนพฤษภาคม และให้มีการสอบเป็นแบบ ออนไลน์ โดยจะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะ เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรและนักศึกษา

คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. กล่าวว่า “คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นคณะที่มีการจัดการเรียนการสอนในภาคปฏิบัติเป็นจำนวนมาก ทำให้มีความจำเป็นที่นักศึกษาต้องมาฝึกปฎิบัติและมาพบอาจารย์  ทางคณะจึงต้องปรับรูปแบบการสอนภาคปฏิบัติ จากเดิมอยู่ที่ให้นักศึกษาเรียนด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่ ก็จะเปลี่ยนรูปแบบ ให้ นักศึกษาเรียนเป็นกลุ่มย่อย ประมาณ 3-5 คน และเลือกลงชั่วโมงฝึกปฏิบัติที่สะดวกได้ ซึ่งทางคณะจะต้องมีการเตรียมอาจารย์ และเตรียมความพร้อมในด้านเครื่องมือให้เพียงพอ จัดซื้ออุปกรณ์ในการฝึกปฏิบัติ เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการใช้งาน นอกจากนั้นแล้ว ยังต้องจัดหาโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่มีความจำเป็นสำหรับอาจารย์และนักศึกษาสำหรับการจัดการเรียนการสอนต่อไป ส่วนการเรียนการสอนในรูปแบบบรรยายทางคณะจะเร่งปรับรูปแบบเป็นการเรียนการสอนออนไลน์ เป็น 100% ให้ได้เร็วที่สุด”

การเตรียมความพร้อมสำหรับอาจารย์ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้จัดสรรงบประมาณให้กับอาจารย์สำหรับการพัฒนาตนเองและใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นในการเรียนการสอนออนไลน์ ในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน โดยภายใน 2 เดือน ทางคณะจะส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์ สามารถปรับตัวให้ได้มากที่สุด ซึ่งทางคณะจะมีการจัดตั้งทีมให้คำปรึกษาและจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการสอนออนไลน์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของคณะ ในการเพิ่มขีดความสามารถของอาจารย์และยกระดับเป็น Smart teacher เพื่อเป็นต้นแบบให้กับอาจารย์ท่านอื่น ส่วนอาจารย์ที่ยังปรับตัวไม่ทัน ทางฝ่ายวิชาการของทางคณะ ก็จะมีกิจกรรมให้ความช่วยเหลือผ่านการจัด KM แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้คำปรึกษา เรื่องเทคนิคการสอนออนไลน์ จัดทำคลินิก และ Call center ให้คำปรึกษาทั้งนักศึกษาและอาจารย์ พร้อมทั้งเพิ่มความเชี่ยวชาญให้อาจารย์ จนกว่าอาจารย์ของทางคณะจะถูกยกระดับเป็น Smart teacher ทุกคน

ในการเตรียมความพร้อมนักศึกษาให้พร้อมต่อการเรียนในช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้มีการจัดทำแบบสำรวจกับนักศึกษาทุกคน เพื่อให้ทราบถึงข้อมูล ความต้องการและความพร้อม ในการเรียนรูปแบบออนไลน์ โดยทางคณะจะจัดให้กองทุน กองทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาเพิ่มเติม จากเดิมปีละ 2 ล้านบาท ให้มากขึ้น โดยจะพยายามช่วยเหลือนักศึกษาที่เดือดร้อนให้ได้ทุกคน  นอกจากนั้นยังมีโครงการกู้ยืมฉุกเฉิน ในวงเงิน 2000 บาท ในกรณีที่มีความจำเป็นอื่น ๆ ก็ได้มอบหมายให้ฝ่ายพัฒนานักศึกษาติดตามและให้คำปรึกษานักศึกษาอย่างใกล้ชิด สำหรับการซื้ออุปกรณ์การเรียนออนไลน์นั้น คณะจะดำเนินการประสานกับบริษัทที่ขายอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ เพื่อให้นักศึกษาได้ซื้อในราคาที่ถูก และจะมีการช่วยเหลือนักศึกษาในรูปแบบของการจ้างงาน เพิ่มขึ้นโดยทางคณะจะมีการเปิดช่วงให้ลงทะเบียน สำหรับนักศึกษาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และต้องการความช่วยเหลือใน ช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้อีกครั้ง 

นอกจากนั้นทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งมีผู้ประกอบการร้านค้าที่อยู่ภายใต้การดูแลกว่า10 กิจการ นั้น ที่ประชุมกรรมการบริหารคณะ มีมติ ให้ยกเว้นค่าเช่าสถานประกอบการ 4 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน – กรกฏาคม ซึ่งเป็นการช่วยบรรเทาทุกข์ให้เจ้าของกิจการ ที่มีส่วนร่วมการทำงานกับคณะ อีกด้วย

ทางด้านการบริหารจัดการทั่วไป มาตรการป้องกันความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิด-19 นั้น ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ขานรับ นโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่น  Work from home คือ ลดจำนวนบุคลากร ในการมาปฏิบัติงานที่คณะ ประมาณ 25 % จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2562 ทางคณะได้มีการจัดทำหน้ากากผ้า เพื่อแจกจ่ายให้กับบุคลากรและนักศึกษา มีการพ่นยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดอาคารทั้งหมด มีพนักงานทำความสะอาดเช็ดฆ่าเชื้อบริเวณที่คนสัมผัสบ่อยวันละ 2 ครั้ง มีการติดตั้งเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าอาคาร อย่างเข้มงวด 

จะเห็นได้ว่า จากการเปิดเผยข้อมูลโดย รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์มข. ในครั้งนี้ ทั้งทางด้านการเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ การบรรเทาทุกข์สำหรับทุกคนที่ได้รับผลกระทบ ความปลอดภัยของบุคลากร และนักศึกษาทุกคน รวมไปถึงการ บรูณาการถ่ายทอดองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมของบุคลากรภายในคณะ เพื่อแก้ไข และบรรเทา กับปัญหาวิกฤตโควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ แสดงให้เห็นถึงจุดยืน และความเข้มแข็งของทางคณะวิศวกรรมศาตร์ มข. ว่า ทางคณะพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนของโลกอยู่เสมอ แม้ว่าจะเกิดวิกฤตใดๆก็ตาม

ข่าว apicma
ภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.

Scroll to Top