สำนักหอสมุด พัฒนานวัตกรรมฆ่าเชื้อในระบบปรับอากาศในอาคารด้วย UVC

สำนักหอสมุด เปิดให้บริการพื้นที่นั่งอ่านเดี่ยวตั้งแต่วันนี้ 13 เมษายน 2563 เป็นต้นมา โดยมีมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน ในด้านการจัดการพื้นที่ การจัดการด้านจำนวนผู้เข้าใช้บริการต่อวัน การทำความสะอาดหลังการใช้งานทุกครั้ง นอกจากนั้นระบบเครื่องปรับอาการ สำนักหอสมุดได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของ “การลดการแพร่เชื้อในระบบปรับอากาศ” จึงได้ทำโครงการติดตั้ง “อุปกรณ์ลดการแพร่เชื้อในระบบปรับอากาศด้วยแสง UVC” นำไปติดตั้งในห้อง AHU ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยทีม KKU Maker Space  จึงได้นำหลอดยูวีซี (UVC) เข้ามาติดตั้งในระบบปรับอากาศของสำนักหอสมุด

     รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภสิทธิ์ คนใหญ่ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สำนักหอสมุด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำนักหอสมุดมีระบบทำความเย็นแบบชิลเลอร์ (Chiller) ซึ่งเป็นระบบระบายความร้อนด้วยน้ำและระบบระบายความร้อนด้วยอากาศ ซึ่งจะอาศัยน้ำเป็นตัวนำพาความเย็นไปยังห้องหรือจุดต่างๆ โดยน้ำเย็นจะไหลไปยังเครื่องทำลมเย็น (Air Handling Unit : AHU หรือ Fan Coil Unit : FCU) ที่ติดตั้งอยู่ในบริเวณที่จะปรับอากาศภายในอาคารต่างๆ ของสำนักหอสมุดทั้ง 3 อาคารได้แก่อาคาร 1 อาคาร 2 และอาคารศูนย์สารสนเทศ ซึ่งมีห้อง AHU อยู่ 7 11 และ 9 ห้องตามลำดับ ซึ่งรวมห้อง AHU ทั้งหมด 27 ห้องด้วยกัน จากที่กล่าวมานั้นห้อง AHU จะเป็นจุดที่ระบายความร้อนด้วยอากาศหรือจะพูดให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นก็คือจะทำหน้าที่เปลี่ยนอากาศร้อนและส่งอากาศเย็นออกมาตามท่อลมเย็นนั้นเอง

และจากคุณสมบัติของแสงหลอดยูวีซี (UVC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรังสีอัลตราไวโอเลตหรือแสงยูวี ที่สามารถลดการเติบโตของเชื้อโรคไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา ซึ่งสามารถช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสที่จะเกิดขึ้นในระบบปรับอากาศ และลดการแพร่เชื้อภายในอาคารได้ และที่สำคัญแสง UVC ยังช่วยขจัดไบโอฟิล์ม (Biofilm) ที่จะเกิดบริเวณคอยล์รวมถึงถาดน้ำทิ้งของระบบ AHU ซึ่งเมื่อไบโอฟิล์ม (Biofilm) ลดลง การทำงาน AHU ก็จะมีประสิทธิภาพดีขึ้นและอายุการทำงานที่ยาวขึ้นก็ตามมาด้วย รวมทั้งเมื่อสิ่งปนเปื้อนทางชีวภาพลดลง โอกาสของการป่วยเป็นโรคตึกเป็นพิษ/โรคอาคารป่วย หรือ Sick Building Syndrome (SBS) ก็จะลดลงตามไปด้วย ทำให้ผู้ใช้ห้องสมุดมั่นใจในระบบปรับอากาศของสำนักฯที่เย็นแล้วยังมีอากาศที่สะอาดและปลอดภัย แน่นอนครับ

      นายเวหา ศิลปบูรณะ พนักงานขับรถยนต์ หนึ่งในทีม KKU Maker Space ผู้ร่วมพัฒนาจากกล่องครอบหลอดยูวีซี (UVC) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการทำกล่องครอบเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยจากรังสีของหลอดนั้น ทีมได้นำไม้อัดเพื่อผลิตเป็นกล่องครอบก่อนนำหลอดไฟไปติดตั้งยังจุดต่างๆ หากทำการสั่งซื้ออุปกรณ์ครบเซ็ทจะมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นทีม KKU Maker Space จึงได้มีการนำอุปกรณ์และวัสดุที่มีอยู่มาประดิษฐ์เป็นกล่องครอบเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครั้งนี้

ซึ่งจากการเตรียมความพร้อมในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ใช้ได้มั่นใจในการเข้าใช้บริการในอนาคต เมื่อวิกฤติการแพร่ของโรคระบาด COVID-19 นี้เบาบางลง สำนักหอสมุด พร้อมเปิดให้บริการตลอด 24 ชม. และรักษามาตรการการรักษาความปลอดภัยในเข้มข้นต่อไป

ระบบ UVC เพื่อฆ่าเชื้อในระบบแอร์
กล่องครอบหลอด UVC ที่ผลิตขึ้นโดยทีม KKU Maker Space
ติดตั้งระบบ UVC ในระบบปรับอากาศ
ทดสอบระบบปรับอากาศ
ทดสอบติดตั้งระบบ UVC ในระบบปรับอากาศ

ข้อมูล/ข่าว: นางสาวนิติยา ชุ่มอภัย /ฝ่ายบริหารและโครงสร้าง สำนักหอสมุด

ภาพ: บุคลากรสำนักหอสมุด

Scroll to Top