SCI KKU & COLA KKU ร่วมเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ สร้าง “นักวิทยาศาสตร์เปลี่ยนเมือง”

     เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2567 เวลา 10.00 น. ณ ห้องวิทยวิภาส 1 อาคารวิทยวิภาส คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น (COLA KKU) ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ (SCI KKU) จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการระหว่างส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น

     พิธีการเริ่มขึ้นโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างสองคณะ ฯ

     จากนั้นเป็นการนำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ระหว่างวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น และคณะวิทยาศาสตร์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ตามด้วยบรรยายพิเศษหัวข้อ “นักวิทยาศาสตร์เปลี่ยนเมือง” โดย ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย อดีต เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และกรรมการประจำวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น (ผู้ทรงคุณวุฒิ) และศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ จากนั้นเป็นพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น กล่าวถึงการลงนามความร่วมมือว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการทั้งสองคณะ ครั้งนี้ ถือว่าเป็นฉากทัศน์ใหม่ที่สายสังคมศาสตร์ได้เริ่มรุกคืบเข้ามาจับมือกับสายวิทยาศาสตร์ ตามนโยบายของมหาวิทยาลัยด้าน Education Transformation การเปลี่ยนฉากทัศน์ หรือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น Live Long Education และการจัดการเรียนการสอนข้ามศาสตร์ เป็นตัวกระตุ้นให้คณะต่าง ๆ เริ่มขับเคลื่อน ซึ่งวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ในฐานะที่เป็นสถาบันแรกที่สอนด้านการปกครองท้องถิ่นในประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงได้มีการปรับหลักสูตรการจัดการศึกษาให้สามารถดำเนินการร่วมกับคณะอื่น หรือศาสตร์อื่น ๆ ได้ เรียกว่า COLA Pluss (COLA++) นำมาซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ คือผู้ที่เรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์จะมีทักษะทางด้านการบริหารกิจการสาธารณะ สามารถเข้าสู่เส้นทางอาชีพได้หลากหลายยิ่งขึ้น กลายเป็น “นักวิทยาศาสตร์เปลี่ยนเมือง” ในที่สุด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์

     ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ เป็นการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการศึกษาเพื่อเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ได้มีโอกาสสำคัญเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนเมืองได้ โดยจะเห็นว่าปัจจุบันถือว่าเป็นยุคทองของวิทยาศาสตร์ เพราะการพัฒนาประเทศไทยในทุก ๆ ด้าน วิทยาศาสตร์จะเป็นส่วนสำคัญมาก ซึ่งคณะฯ มีการกำหนดทิศทาง หรือเป้าหมายว่า จะเป็นคณะชั้นนำที่มุ่งสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรมและกำลังพลที่มีคุณภาพสูงทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศ การพัฒนาหลักสูตรครั้งนี้ คณะ ฯ จึงมีการกำหนดกลยุทธ์ในเรื่อง Science KKU++ เป็นหลัก เพื่อสร้างโอกาสและผลิตบัณฑิตให้ตรงตามความสนใจของตนเอง โดยมีฐานที่เข้มแข็งทางด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งหลักสูตรการเรียนการสอนที่พัฒนาร่วมกับวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่นจะเป็นการเรียนที่สามารถสะสมเป็น Credit Bank ได้ เหมาะสมกับการเรียนของนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ที่สำคัญยังสามารถมองเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนในการเข้าสู่เส้นทางสายอาชีพของตนเองมากยิ่งขึ้น

อ.ดร.ปานปั้น รองหานาม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาความเป็นเลิศ วิจัย และการศึกษาตลอดชีวิต วปท. นำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ
อ.ดร.ปานปั้น รองหานาม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาความเป็นเลิศ วิจัย และการศึกษาตลอดชีวิต วปท. นำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ   
ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย อดีต เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และกรรมการประจำวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น (ผู้ทรงคุณวุฒิ) และศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ บรรยายพิเศษหัวข้อ “นักวิทยาศาสตร์เปลี่ยนเมือง”
ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย อดีต เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และกรรมการประจำวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น (ผู้ทรงคุณวุฒิ) และศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ บรรยายพิเศษหัวข้อ “นักวิทยาศาสตร์เปลี่ยนเมือง”

     สำหรับข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว มีระยะเวลา 5 ปี โดยร่วมกันดำเนินการ ด้านการจัดหลักสูตรการศึกษาตามกระบวนทัศน์ใหม่ ในรูปแบบการเรียนข้ามศาสตร์ระหว่างรัฐประศาสนศาสตร์ กับ วิทยาศาสตร์ ที่มุ่งผลิต “นักวิทยาศาสตร์เปลี่ยนเมือง ” ที่ขยายขอบเขตเชื่อมต่อการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการศึกษาตลอดชีวิต การเปิดโอกาสให้นักศึกษาของทั้งสองคณะได้พัฒนาต่อยอดความรู้ การบูรณาการองค์ความรู้เพื่อสร้างหลักสูตรบริการวิชาการและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในรูปแบบการฝึกอบรม การสัมมนา การวิจัย หรือกิจกรรมในลักษณะการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและสาธารณะ และการขับเคลื่อนนโยบายการปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา (KKU Education Transformation) ให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

     ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการศึกษา เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนเมือง สร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม และกำลังพลที่มีคุณภาพสูง เพื่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

 

ภาพ / ข่าว  :  เบญจมาภรณ์  มามุข 

Scroll to Top