มข. จัดเวทีถอดความรู้ ขยายบทเรียนผลงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคอีสาน สู่ระบบการจัดการที่ยั่งยืน

มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยโครงการถอดความรู้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือฯ  จัดเวทีถอดความรู้ ขยายบทเรียนผลงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคอีสาน สู่ระบบการจัดการที่ยั่งยืน หวังผลสำเร็จในการสร้างคนและพื้นที่รูปธรรมการบูรณาการความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และชาวบ้านผู้ประสบปัญหา ในการร่วมทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของชุมชนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม

เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2563 ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 3 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี โครงการถอดความรู้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือแบบสร้างเสริมศักยภาพสู่การขับเคลื่อนบทบาทองค์กรชุมชนภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลง นำโดย นางสินี  ช่วงฉ่ำ  หัวหน้าโครงการถอดความรู้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือฯ จัดการประชุมเสนอผลการถอดความรู้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในภาคอีสาน ประเด็นการบริหารจัดการน้ำของชุมชน เกษตรกรรมยั่งยืน และการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งได้ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2562 ถึง 31 มกราคม 2563 จากการสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.สุขุม วสุนธราโศภิต รองคณบดีฝายบริหาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เป็นประธานในพิธีเปิด  โดยมีผู้เข้าผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้ประสานงานศูนย์วิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคอีสาน ผู้แทนนักวิจัยชุมชน ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และคณะทำงานมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น  กว่า 70 คน

นางสินี  ช่วงฉ่ำ  หัวหน้าโครงการถอดความรู้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือฯ

            นางสินี  ช่วงฉ่ำ  กล่าวว่า  “กว่า 20 ปี ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) จัดกลไกสนับสนุนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community Based Research-CBR)   เพื่อติดอาวุธทางปัญญาแก่ชุมชนและท้องถิ่น โดยสนับสนุนชาวบ้านให้เป็นนักวิจัยชุมชน ทำหน้าที่ปฏิบัติการศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาตนเองแบบมีส่วนร่วม  การจัดสรรทุนวิจัยเพื่อท้องถิ่นในระยะที่ผ่านมา มีความหลากหลายตามสภาพปัญหาและความสนใจของชุมชน ทั้งสนับสนุนพัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัย เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยมีนักวิชาการจากสถาบันวิชาการ นักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมเป็นนักวิจัยหรือที่ปรึกษา  ซึ่งโครงการถอดความรู้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือฯ ได้พัฒนาระบบหนุนเสริมในรูปแบบของศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Node) และชุดโครงการ ทำหน้าที่เป็นองค์กรพี่เลี้ยง  ส่งผลให้เกิดตัวอย่างความสำเร็จของการสร้างคนและพื้นที่รูปธรรมการบูรณาการความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และชาวบ้านผู้ประสบปัญหา ในการร่วมทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของชุมชนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมในหลายพื้นที่”

“ประชาคมวิจัยภาคอีสาน โดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี สถาบันจัดการความรู้เกษตรยั่งยืนอีสานกลาง และศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดเลยร่วมกับศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดหนองคาย ภายใต้การหนุนเสริมและการสังเคราะห์ความรู้ในภาพรวมโดยคณะนักวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้คัดเลือกชุดโครงการด้านเกษตรกรรมยั่งยืน การบริหารจัดการน้ำของชุมชน และการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ภายใต้โครงการถอดความรู้แบบเร่งด่วน มาเป็นประเด็นถอดความรู้ โดยหวังเสริมสร้างศักยภาพ และการปรับตัวของศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น  ขับเคลื่อนบทบาทองค์กรชุมชนภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลง จัดทำข้อเสนอต่อ สกสว. และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) เพื่อพิจารณาแนวทางในการสนับสนุนทุนวิจัย และกระบวนการติดตามสนับสนุนการวิจัยที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น” นางสินี  ช่วงฉ่ำ  กล่าว

ผศ.ดร.สุขุม วสุนธราโศภิต รองคณบดีฝายบริหาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

            ผศ.ดร.สุขุม วสุนธราโศภิต ประธานพิธีเปิด กล่าวว่า  “การติดอาวุธทางปัญญาให้กับชุมชนท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาตนเองบนฐานความรู้”   “การวิจัยเพื่อท้องถิ่นมีเป้าหมายที่สำคัญและเป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เป็นฐานรากสำหรับการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน เป็นส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นเข้าถึงทุนวิจัย และเปิดโอกาสในการเรียนรู้เรื่องการใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้และแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ภายใต้การหนุนเสริมของทีมพี่เลี้ยง นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมมิใช่เป็นเรื่องง่าย ดังนั้น การหนุนเสริมชุมชนท้องถิ่นให้ทำวิจัยจึงต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง ทั้งตัวนักวิจัยชุมชนเองและทีมพี่เลี้ยง  ซึ่งทาง สกว.ได้ปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการ และหนุนเสริมการวิจัยมาตลอด และปัจจุบันภายหลังการปรับปรุงโครงสร้างและแนวนโยบายการบริหารงานวิจัยไทยแล้วนั้น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ยังสนับสนุนจัดสรรทุนวิจัยดูแลงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้มีกระบวนการถอดความรู้จากการดำเนินโครงการวิจัยที่เน้นการสร้างเสริมพลังของทีมพี่เลี้ยงและชุมชนวิจัย

ภายใต้โครงการนี้จะทำให้เราได้ทราบถึงความรู้สำคัญอะไรบ้างที่มาจากการปฏิบัติการวิจัยโดยชุมชนท้องถิ่นเอง ในประเด็นวิจัยด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน การทำเกษตรกรรมยั่งยืน และการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือยังมีข้อจำกัดประการใดที่เป็นข้อท้าทาย  จากกำหนดการประชุมที่ออกแบบไว้ นอกจากการบรรยายพิเศษ และการนำเสนอผลการถอดความรู้โดยผู้แทนคณะทำงานถอดความรู้ จะมีการอภิปรายกลุ่มย่อยเกี่ยวกับแนวทางขยายผลความรู้และแนวทางปรับปรุงระบบการบริหารจัดการงานวิจัยให้เกิดผลมากขึ้น ซึ่งผมใคร่ขอให้ผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการประชุมในวันนี้ทุกท่าน ได้ช่วยมีส่วนร่วมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างเต็มที่” ผศ.ดร.สุขุม วสุนธราโศภิต กล่าว

ทั้งนี้ได้มีการสรุปและข้อเสนอแนะจากการถอดความรู้ในภาพรวม โดย นางสินี ช่วงฉ่ำ หัวหน้าโครงการฯ  และมีการอภิปรายกลุ่มย่อย: 3 กลุ่มประเด็น (การจัดการน้ำ เกษตรกรรมยั่งยืน และการท่องเที่ยวโดยชุมชน)  มีข้อเสนอแนะต่อการขยายผลความรู้สำคัญแนวทางการหนุนเสริมการวิจัยเพื่อท้องถิ่นมุ่งสู่การพัฒนาชุมชนบนฐานความรู้ การลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาที่ยั่งยืน และสรุปแนวทางประยุกต์ใช้ผลการถอดความรู้และข้อเสนอแนะในการบริหาร จัดการ CBR ต่อไป กล่าวปิดการประชุม โดย คุณสุภาพรรณ โทขัน นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ  สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ข่าว/ภาพ   :   วนิดา   บานเย็น    นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

(ซ้าย) นางสินี  ช่วงฉ่ำ  หัวหน้าโครงการถอดความรู้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือฯ (ขวา)  ผศ.ดร.สุขุม วสุนธราโศภิต รองคณบดีฝายบริหาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

 

Scroll to Top