อาจารย์ COLA KKU ชูยุทธศาสตร์ มข. “Education Transformation” บนเวทีของสันนิบาตเทศบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการ OPSCD ในบทบาท อาจารย์ มข. ชูยุทธศาสตร์ มข. “Education Transformation” บนเวทีเสวนา “ความท้าทายการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองในยุค Disruptive Technology” ในงานของสันนิบาตเทศบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ยุค Thailand 4.0 เป็นยุคที่ประเทศไทย ขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยี ความคิด สร้างสรรค์ และนวัตกรรม ไปสู่ความ “มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน” โดยเน้นภาคการผลิตไปสู่ภาคบริการมากขึ้น และประชากร มีรายได้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจุบันประเทศไทย มีการสร้างนวัตกรรมเป็นของตนเอง ดังนั้น “การศึกษา” จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ต้องดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน เพื่อก้าวเข้าสู่ “การศึกษา 4.0” และด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีแผนยุทธศาสตร์การบริหาร ว่าด้วยปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา (Education Transformation) โดยการเปลี่ยนแปลง รูปแบบการเรียนรู้ยุคใหม่ ที่ปรับตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต ที่มีผลต่อมหาวิทยาลัย ซึ่งมีหน้าที่ผลิตบุคลากรให้กับสังคม ให้พร้อมรับกับเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบอุตสาหกรรม 4.0

รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ Operations and Promotion Center for Livable Smart City Development (OPSCD) วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น COLA KKU ในบทบาทของ “อาจารย์” นอกจาก จะต้องปรับปรุง เรื่องของหลักสูตร ตำรา และบทบาทของอาจารย์แล้ว ในวันที่ 6 มีนาคม 2563 รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ จึงได้ให้การสนับสนุนงานของ สันนิบาตเทศบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ร่วมเป็นวิทยากร บนเวทีเสวนา “ความท้าทายการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองในยุค Disruptive Technology” ในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนด้วยตนเอง ณ เทศบาลเมืองศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ด้วยเล็งเห็นว่า ในยุค disruption ที่องค์ความรู้และเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ย่อมมีผลกระทบแห่งการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การศึกษาในยุค Thailand4.0 จึงต้องส่งเสริมทักษะแห่งอนาคต พร้อมเสริมการเรียนรู้ที่ได้ปฏิบัติจริง ลงมือจริง ให้กับผู้เรียน ด้วย โดยประเด็นการเสวนา คือ “ทัศนคติเชิงบวก และกระบวนการคิดที่ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลง สู่ยุค THAILAND 4.0” ซึ่งสาระส่วนหนึ่งของ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ  คือ “คงปฎิเสธไม่ได้ว่า ในโลกเราที่ผันผวนนี้ การศึกษา จะเน้นไปที่การสร้างและพัฒนาทักษะความรู้ อย่างเดียวคงไม่เพียงพออีกต่อไป ดังนั้น ทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องเน้น เป็นอาวุธทางปัญญาและในทางปฏิบัติ คือ ความรู้  ทักษะ และ ทัศนคติ ที่ทุกคนจะต้องปรับตัว ให้ใจกว้าง กล้าลองผิดลองถูก กล้าฝันไปดวงจันทร์  learning & Growth มีความคิดสร้างสรรค์ มองภาพใหญ่ได้ และมองอนาคตเป็น ดั่งคำที่ ศ.เฮนรี มินทซ์เบิร์ก นักวิชาการด้านกลยุทธ์ มหาวิทยาลัยแมคกิลล์ ประเทศแคนาดา ที่เคยกล่าวไว้ คือ “เมื่อโลกพยากรณ์ได้ เราต้องการคนฉลาด แต่เมื่อโลกพยากรณ์ไม่ได้ เราต้องการคนที่ปรับตัวได้” พร้อมปิดท้ายถึง การศึกษาในยุค Thailand4.0 ว่าไม่ใช่ เป็นเพียงการให้ความรู้กับคนหรือผู้เรียนเท่านั้น แต่เป็นการหล่อหลอมให้ผู้เรียนเกิด “ทักษะ” ด้านต่าง ๆ ที่คงอยู่และมีพัฒนาการ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถนำไปเป็นฐานในการสร้างผลผลิตหรือนวัตกรรม ต่อไปได้

 

 

 

ภาพ/ข่าว: ภาภรณ์ เรืองวิชา

Scroll to Top