สถาปัตย์จัดนิทรรศการแสดงผลงานออกแบบคณาจารย์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์บริการวิชาการด้านการออกแบบเพื่อสังคม

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดนิทรรศการแสดงผลงานออกแบบคณาจารย์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ณ อาคารอเนกประสงค์ (สิม) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  โดยทางคณาจารย์ได้รวบรวมผลงานการออกแบบที่ร่วมบริการวิชาการประมาณ 80 ผลงาน จัดแสดงภายในอาคารอเนกประสงค์ (สิม) และจัดโชว์บริเวณภายในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

เนื่องด้วยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีภารกิจหลักในการเรียนการสอนและบริการวิชาการ ด้านสถาปัตยกรรม ผังเมืองและการออกแบบในสาขาต่างๆ ทั้งนี้ คณาจารย์ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ นับเป็นทีมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ มีผลงานการออกแบบมากมาย การออกแบบในวิชาชีพมีความจำเป็นที่จะช่วยพัฒนาการเรียนสอน และยกระดับการบริการวิชาการ เพื่อเป็นรายได้ของคณะได้ การจัดแสดงผลงานออกแบบของคณาจารย์ จะเป็นการเผยแพร่ให้สาธารณะทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับรู้ และมั่นใจในผลงานการออกแบบของคณาจารย์ อันจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร เป็นการประชาสัมพันธ์ความรู้ความสามารถของคณาจารย์ในคณะ ซึ่งจะส่งผลดีต่อด้านการเรียนการสอน และการบริการวิชาการ ต่อไป

ผศ.ดร.ชำนาญ บุญญาพุทธิพงศ์  ประธานการจัดงานได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อต้องการเผยแพร่ผลงานออกแบบของคณาจารย์สู่สาธารณะ ส่งเสริมให้คณาจารย์สร้างเสริมประสบการณ์ด้านการออกแบบ เพื่อการเรียน การสอน และการบริการวิชาการและเพื่อต้องการสร้างสัมพันธ์ของอาจารย์ที่กลับจากการศึกษาต่อและอาจารย์ใหม่ รวมถึงคณาจารย์ที่สอนอยู่ปัจจุบันได้มีโอกาสพบปะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคณาจารย์ภายในคณะให้มากยิ่งขึ้น

รศ.ดร.ชูพงษ์ ทองคำสมุทร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงสิ่งที่ได้รับในการบริการวิชาการที่คณะได้มีการดำเนินมาตลอด ไว้ 10 ประเด็นสำคัญ คือ

  1. เพิ่มประสบการณ์ในการนำไปใช้การเรียนการสอนได้ เทคโนโลยีแปลกไปกว่าเดิมมาก การที่ใช้ความรู้นำไปสอนจะเป็นประสบการณ์ที่ช่วยอัพเดทในการสอน
  2. มีโอกาสในการบริการวิชาการนำผลวิจัยไปใช้หรือเราจะได้หัวข้อจากงานบริการวิชาการไปทำงานวิจัยของเราเอง
  3. เจ้าของงานได้งานที่ดีเราเองได้เป็นผู้ให้ กล้าทำด้วยองค์ความรู้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการได้
  4. เชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชนและสังคม
  5. สามารถนำผลงานและการประเมินผลงานไปขอตำแหน่งทางวิชาการได้ในหมวดของงานสร้างสรรค์
  6. มีโอกาสบูรณาการงานจริงกับงานสอนนักศึกษาทำงานได้ ลงพื้นที่ดูของจริงได้
  7. เราจะได้ Calibrate การวัดงานในไฟล์หรืองานในกระดาษกับบรรยากาศจริงว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
  8. เป็นการอัพเดทตัวเองเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก
  9. กรณีเป็นการให้ความอนุเคราะห์เราเป็นการให้ธรรมทานอย่างนึง หากมีค่าตอบแทนจะช่วยให้รัฐประหยัดได้เพราะงานของรัฐเป็นงานที่ต้องประหยัด มีประโยชน์ใช้งานได้คุ้มค่า
  10. ทางคณะได้ KPI ได้ OKR ด้านงานบริการวิชาการที่เป็นสมรรถนะหลักของเราเอง และทิ้งท้ายว่าในต่างประเทศยอมรับว่างานออกแบบเทียบเท่ากับงานวิจัย

 

ข่าว : กรรณภัสส์ สิริเกียรติ
ภาพ : จักริน เงินทอง

Scroll to Top