มข. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กระทรวง อว. เดินหน้าขับเคลื่อน “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อร่วมผลิตบัณฑิตนักวิทย์ศักยภาพสูง

มข. ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กระทรวง อว. เดินหน้าขับเคลื่อน “ธัชวิทย์”
มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กระทรวง อว. เดินหน้าขับเคลื่อน “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อร่วมผลิตบัณฑิตนักวิทย์ศักยภาพสูง พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก

 

มข. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กระทรวง อว. เดินหน้าขับเคลื่อน “ธัชวิทย์”
มข. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กระทรวง อว. เดินหน้าขับเคลื่อน “ธัชวิทย์”

     มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าร่วมพิธีเปิดตัว (Kick off) และ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)  “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences : TAS) พร้อมร่วมลงนาม ในวันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.30 – 11.30 น. ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดตัวและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว.  นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษา รมว.อว.  ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว.  รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)  ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผอ.หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม(บพค.)  ผู้บริหารกระทรวง อว.  ผู้บริหารสถาบันการศึกษา และหน่วยงานเอกชน เข้าร่วมงานในครั้งนี้

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดตัวและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประธานเปิดตัวและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

     ในการนี้ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้กล่าวในช่วงพิธีเปิดตัว ว่า ธัชวิทย์ เกิดจากความประสงค์ที่ต้องการให้วิทยาศาสตร์และวิทยาการของไทยทำงานร่วมกัน นักวิทยาศาสตร์ไม่ควรทำงานแค่เฉพาะทาง ธัชวิทย์ต้องเป็น Think Tank ของประเทศ หากประเทศมีปัญหาที่ต้องการคำตอบ ธัชวิทย์ต้องเป็นหนึ่งในการตัดสินใจนั้น และเป็น virtual organization โดยไม่จำเป็นต้องสร้างหน่วยงานใหม่ แต่นำคนเก่งจากหลายสถาบันมารวมกัน พัฒนาเรื่องที่น่าสนใจ ให้มีความก้าวหน้าระดับโลก ต้องสร้างคนที่เหมาะสม พร้อมทำงานให้อุตสาหกรรม และสอดคล้องกับทิศทางของโลก ซึ่งต้องทำให้เร็ว ทำให้มาก จึงจะประสบความสำเร็จ ธัชวิทย์จะเป็นสูตรสำเร็จในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในกระทรวง อว. ที่ประกอบด้วยสถาบันการศึกษาชั้นนำ และหน่วยงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งสิ่งที่ตนจะขอให้ธัชวิทย์ทำต่อจากนี้ คือ ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก “งานใดทำแล้วไม่สนุก งานนั้นยากจะเก่ง” นอกจากนั้น ตนอยากเสนอ 2 หลักสูตรให้ธัชวิทย์ร่วมกันทำขึ้น คือ 1. เรื่องการท่องเที่ยวของไทย เพราะไทยมีการท่องเที่ยวที่เป็นระดับมหาอำนาจของโลก จึงอยากให้ผลิตหลักสูตรด้านการท่องเที่ยว เป็นหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับโรงแรมของไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยให้ทำเป็นระดับปริญญาตรี 2. เรื่องของเด็กไทยที่สามารถสร้างผลงานจากการประกวดด้านวิทยาศาสตร์  ให้นำเด็กกลุ่มนี้มาศึกษาในสถาบันของธัชวิทย์ โดยที่ไม่เน้นเกรด แต่เน้นที่โครงงานการปฏิบัติ หาการเรียน การสอนที่มีความสนุกควบคู่ไปกับการเรียนจากการปฏิบัติ เพื่อรักษาความเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ปฏิบัติเช่นนี้ต่อไป              ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าว

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

     ขณะที่ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการเข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในครั้งนี้ว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความพร้อมในการสนับสนุนนโยบาย ธัชวิทย์ เพื่อร่วมผลิตบัณฑิตนักวิทย์ศักยภาพสูง ใน 4 สาขาได้แก่ สาขาวัสดุนาโนขั้นสูงในการกักเก็บคาร์บอน, สาขาชีวนวัตกรรมและอาหารแห่งอนาคต, สาขาสุขภาพส่วนบุคคลและปัญญาประดิษฐ์แห่งอนาคต และ สาขาการศึกษาแห่งอนาคต ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากหลักสูตรเหล่านี้ จะได้บัณฑิตร่วมกับสถาบันวิจัยและเอกชนจำนวนไม่ต่ำกว่า 80 คน ในระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้า ก่อให้เกิดการยกระดับสถาบันวิจัยและภาคเอกชน ให้สามารถสร้างกำลังคนเพื่อการสร้าง GDP ให้ประเทศไทยโดยฐานเทคโนโลยีขั้นสูง

     ทั้งนี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ดำเนินการจัดตั้ง “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences: TAS) ขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัยนักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแห่งชาติ และสถาบันอุดมศึกษา เข้ามาทำงานร่วมกัน โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศที่มีอยู่แล้วเพื่อสร้างประเทศให้มีฐานวิทยาศาสตร์ที่ดี ฐานการพัฒนาคนไทยให้ได้ดี สร้างคลังสมอง เพิ่มอันดับมหาวิทยาลัยไทย สร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมขั้นแนวหน้า ผลิตบัณฑิตสมรรถนะสูงในสาขาจำเป็น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประทศในเวทีโลก มุ่งเป้าให้ประทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2580 โดยให้มีรูปแบบการดำเนินงานใน 3 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การสร้างเครือข่ายคลังสมองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ (Frontline Think Tank) มิติที่ 2 กลุ่มริเริ่มงานวิจัยชั้นนำ (Frontier Science Alliances) และ มิติที่ 3 ผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพสูงเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก (Future Graduates Platform)

 

ข่าว : เบญจมาภรณ์ มามุข
ข้อมูลเพิ่มเติม : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
https://www.mhesi.go.th/index.php/pr-executive-news/9055-2023-05-25-07-33-40.html

KKU signs MOU with MHESI for deploying Thailand Academy of Sciences, an institute that prepares high-competent scientists

 

https://www.kku.ac.th/16439

 

Scroll to Top