แก่นอีสานวัฒน์ปีที่ 5 “ลูกอีสาน” ในรูปแบบเทศกาลละครเพื่อนำเสนอเรื่องราว ตัวตน และความเป็นคนอีสานด้วยผลงานละครฝีมือเยาวชนรุ่นใหม่

เมื่อวันที่ 29-30 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ร่วมกับ สาขาวิชาการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์  ได้จัดเทศกาลละครเยาวชนแก่นอีสานวัฒน์ 2023 ภายใต้การดำเนินงานโครงการประกวดละครเยาวชนสร้างสรรค์แก่นอีสานวัฒน์ครั้งที่ 5 ประจำปี 2566 ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อสร้างสรรค์และนำเสนอผลงานละคร ณ เฮือนอีสานโบราณ ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีผู้เข้าชมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้ง 2 วัน

รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “แก่นอีสานวัฒน์เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนอีสานรุ่นใหม่ได้มาเรียนรู้ ฝึกฝน และสำแดงพลังความเป็นลูกอีสานผ่านการสร้างสรรค์ละคร ซึ่งปีนี้โครงการละครแก่นอีสานวัฒน์มีกระบวนการอบรมเชิงปฏิบัติการในรูปแบบค่าย 9 วัน และนำเสนอผลงานละครอีก 2 วัน เรียกได้ว่านักเรียนที่เข้าร่วมมีโอกาสได้เรียนรู้ละครอย่างคุ้มค่ามากจริงๆ” นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พชญ อัคพราหมณ์ ประธานการดำเนินโครงการ ได้กล่าวว่า “แก่นอีสานวัฒน์ปีนี้ขยับออกมานอกพื้นที่โรงละคร มีความแตกต่างจากทุกปีที่นำเสนอผลงานในโรงละครหรือสตูดิโอละคร โดยใช้พื้นที่เฮือนอีสานเป็น “พื้นที่แสดง” ของแต่ละเรื่อง โจทย์หลัก คือ น้องนักเรียนทุกทีมซึ่งล้วนเป็นลูกอีสานสามารถดึงเอาสิ่งที่กลุ่มมีความสนใจร่วม หรือมีประสบการณ์ร่วมกันมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างเรื่องและเล่าเรื่อง เพื่อเสนอมุมมอง ความคิด สุ้มเสียง ของความเป็นลูกอีสานปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ มีความแตกต่างจากสิ่งที่เคยรับรู้และเคยได้ยิน เป้าหมาย คือ การที่น้องๆ สามารถให้นิยามความหมายของ “ลูกอีสาน” ในแบบที่กลุ่มอยากให้เป็น”

การแสดงทั้ง 11 เรื่อง ถูกนำเสนอผ่านเฮือนอีสานแต่ละหลัง โดยทางโครงการจัดให้มีโปรแกรมการแสดงสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียน เพื่อให้แต่ละทีมได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ในการนำเสนอผลงานละครสู่สายตาผู้ชม โดยจัดให้มีการแสดงวันละ 3 รอบ รวม 2 วัน เป็น 6 รอบการแสดง/เรื่อง ทั้งนี้ ยังเปิดโอกาสให้แต่ละทีมได้เข้ารับชมผลงานละครของเพื่อนต่างโรงเรียน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และนำไปสะท้อนคิดเพื่อร่วมโหวตรางวัลที่เหมาะสมให้กับทีมนั้นๆ ซึ่งโครงการได้ออกแบบวิธีการประเมินรูปแบบใหม่ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีโอกาสเสนอเสียงของตนเองเพื่อมอบรางวัลทรงเกียรติ (รางวัลแบบแยกประเภท) ให้แก่ผลงานละครที่ตนรู้สึกประทับใจ ส่วนการะเมินรางวัลละครทรงคุณค่าแก่นอีสานวัฒน์นั้น เป็นการประเมินตามเกณฑ์ของโครงการโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้เชี่ยวชาญ ที่ได้รับเชิญมาร่วมตัดสิน โดยในปีนี้ประกอบด้วย

  1. ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง เมธีวิจัยอาวุโส สกว. และภาคีสมาชิกราชบัณฑิต สาขานาฏกรรม เป็นประธานกรรมการ
  2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ เลขานุการเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมอีสาน และผู้อำนวยการโฮงสินไซ จังหวัดขอนแก่น
  3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนัชพร กิตตก้อง ประธานหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  4. อาจารย์ ดร.พงศธร ยอดดำเนิน ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏกรรม จากสาขาวิชาการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  5. อาจารย์อาทิตย์ กระจ่างศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีประกอบการแสดงและเสียงจากพื้นที่ (Soundscape) สาขาวิชาดนตรีพื้นเมือง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  6. คุณอภิยา ฉายจันทร์ทิพย์ นักการสื่อสารมวลชนด้านสื่อศิลปะและวัฒนธรรม จากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

นอกจากนี้ ในช่วงพิธีมอบรางวัลยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมมอบรางวัลต่าง ๆประกอบด้วย รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฯ ผศ.ดร.กิตติสันต์ ศรีรักษา ผู้ช่วยอธิการบดีฯ คุณชาญณรงค์ บุริสตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น รศ.ดร.รินา ภัทรมานนท์ ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์ Frontier Research บพค. และคุณจตุรภรณ์ โชคภูเขียว ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์ด้าน SHA และ AI  โดยผลการตัดสินรางวัลมีดังต่อไปนี้

  1. รางวัล “ละครทรงคุณค่าแก่นอีสานวัฒน” ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษา 20,000 บาท ได้แก่ โรงเรียนสีชมพูศึกษา จังหวัดขอนแก่น ในผลงานละครเวทีเรื่อง Eปอบ”
  2. รางวัลละครขวัญใจมหาชน ได้แก่ โรงเรียนกัลยาณวัตร จังหวัดขอนแก่น ในผลงานละครเวทีเรื่อง “โฮม”
  3. รางวัลละครสำหรับเด็กและเยาวชน ได้แก่ โรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษา จังหวัดกาฬสินธุ์ ในผลงานละครเวทีเรื่อง “ด่า ป้อย จ่ม ฮัก”
  4. รางวัลละครความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ได้แก่ โรงเรียนประชารัฐวิทยาเสริม จังหวัดขอนแก่น ในผลงานละครเวทีเรื่อง “เอริก้าไวรัส”
  5. รางวัลละครส่งเสริมความเป็นพลเมือง ได้แก่ โรงเรียนสกลนครพัฒนศึกษา จังหวัดสกลนคร ในผลงานละครเวทีเรื่อง “น้ำใจไทบ้าน Isan Friendly”
  6. รางวัลละครส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย ได้แก่ โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี ในผลงานละครเวทีเรื่อง “ปม”
  7. รางวัลละครส่งเสริมความสัมพันธ์และครอบครัว ได้แก่ โรงเรียนเบญจลักษณ์พิทยา จังหวัดศรีสะเกษ ในผลงานละครเวทีเรื่อง “ตุ้มโฮม”
  8. รางวัลละครส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้แก่ โรงเรียนบ้านแท่นวิทยา จังหวัดชัยภูมิ ในผลงานละครเวทีเรื่อง “ยังลาย (Young Line)”
  9. รางวัลละครสะท้อนสังคมพหุวัฒนธรรมในอีสาน ได้แก่ โรงเรียนกัลยาณวัตร จังหวัดขอนแก่น ในผลงานละครเวทีเรื่อง “โฮม”
  10. รางวัลละครส่งเสริมสันติภาพและความเป็นมนุษย์ ได้แก่ โรงเรียนมหิศราธิบดี จังหวัดนครราชสีมา ในผลงานละครเวทีเรื่อง “สะเอ๊อะ”
  11. รางวัลละครส่งเสริมความเท่าเทียมและความเสมอภาค ได้แก่ โรงเรียนอถดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี ในผลงานละครเวทีเรื่อง “ปม”
  12. รางวัลละครส่งเสริมและสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน ได้แก่ โรงเรียนยางชุมน้อยพิทยาคม จังหวัดศรีสะเกษ ในผลงานละครเวทีเรื่อง “มาเด้อขวัญเอ้ย”
  13. รางวัลละครส่งเสริมและขับเคลื่อนวัฒนธรรมอีสานยุคใหม่ ได้แก่ โรงเรียนสีชมพูศึกษา จังหวัดขอนแก่น ในผลงานละครเวทีเรื่อง Eปอบ”
  14. รางวัลละครสะท้อนชาติพันธุ์และอัตลักษณ์ของชุมชนอีสาน ได้แก่ โรงเรียนไพรธรรมคุณวิทยา จังหวัดศรีสะเกษ ในผลงานละครเวทีเรื่อง The Back Magic”

ท่านผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการละครเยาวชนสร้างสรรค์แก่นอีสานวัฒน์ปีที่ 5 และปีอื่น ๆ ได้ผ่านช่องทางเฟสบุ๊คแฟนเพจ “แก่นอีสานวัฒน์” ซึ่งจะมีภาพกิจกรรม บันทึกช่วงเสวนาและการแสดงให้สามารถรับชมย้อนหลังได้ตลอด 24 ชม.

 

 

 

 

 

Scroll to Top