โครงการวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มข. ส่งมอบนวัตกรรมและนวัตกรด้านการแสดงทางวัฒนธรรม ขยายผลสู่พื้นที่ประกอบการจริงบนเวทีหมอลำ สร้างงาน สรางอาชีพ สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจฐานราก จากทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากโครงการวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์: วิถีการแปรเปลี่ยนนวัตกรรมและการประกอบการทางวัฒนธรรมในสังคมเสมือน มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้ดำเนินการส่งมอบผลงานสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการแสดงทางวัฒนธรรมและการพัฒนานวัตกรที่เป็นส่วนสำคัญของการแสดงหมอลำเรื่องต่อกลอนแก่คณะหมอลำในพื้นที่ โดยได้ร่วมมือกับ คณะหมอลำเรื่องต่อกลอนทำนองขอนแก่น คณะอีสานนครศิลป์ ซึ่งถือเป็นคณะหมอลำของจังหวัดขอนแก่นที่ตั้งขึ้นใหม่ล่าสุดเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งคณะหมอลำดังกล่าวได้เปิดพื้นให้โครงการวิจัยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ร่วมพัฒนานวัตกรรม และทดลองใช้นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นผ่านการประกอบการจริง

ผศ.ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม อาจารย์วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น

อ.อาทิตย์ กระจ่างศรี  อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์

 

อ.ปรียาภรณ์ พัชนี  อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์

 

ผศ.ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม อาจารย์วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า คณาจารย์นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้ร่วมกับศิลปินหมอลำและผู้ประกอบการกำหนดแนวคิดโครงเรื่องของการแสดง การพัฒนาลายดนตรีอีสาน การพัฒนาและออกแบบถ่วงทำนองการร้อง  การลำ การรำและเต้นประกอบจังหวะที่ยังคงรากเหง้าของวัฒนธรรมพื้นถิ่นอีสาน ซึ่งชุดการแสดงที่พัฒนาขึ้นนี้มีชื่อว่า “บุญ” โดยได้สะท้อนประเพณีการบวชนาคของชาวอีสานที่เชื่อกันว่าเป็น “บุญใหญ่” ที่ลูกหลานนิยมบวชทดแทนคุณบิดามารดา โดย อ.อาทิตย์ กระจ่างศรี และ อ.ปรียาภรณ์ พัชนี หนึ่งในทีมนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงการออกแบบการแสดงทางวัฒนธรรมบนเวทีหมอลำชุดนี้ว่า

บุญ เป็นเด็กหนุ่มจากภาคอีสานและเพื่อน ๆ เดินทางไปทำงานที่กรุงเทพฯ เพื่อต้องการหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวที่รออยู่ที่บ้าน ทุกปีพวกเขาจะทำผ้าป่าเพื่อนำทุนมาพัฒนาวัดและชุมชนของตนเอง แต่ครั้งนี้ค่อนข้างพิเศษ เขาอายุครบ 25 ปีพอดี ตามประเพณีเขาจะบวชให้พ่อกับแม่ ดังนั้นเขาจึงตั้งใจที่จะกลับบ้านมาเพื่อทำสิ่งนี้ให้พ่อกับแม่ของเขา การแสดงแบ่งออกเป็น 3 ช่วง

ช่วงที่ 1 กลับบ้าน (คิดถึง)

1) บรรยากาศที่โรงงานทอผ้า บุญและเพื่อน ๆ ทำงานวันสุดท้ายและกำลังเตรียมผ้าป่ากลับบ้าน เจ้านายซึ่งรักบุญเหมือนลูกจึงได้ร่วมทำบุญด้วย จากนั้นทุกคนเดินทางกลับบ้าน

2) บรรยากาศเตรียมงานผ้าป่าและงานบวชที่บ้านโดยพ่อกับแม่ของบุญเป็นเจ้าภาพจัดงาน บุญและเพื่อน ๆ กลับมาถึงบ้านพร้อมกับของฝากมากมายจากกรุงเทพฯ มาฝากญาติพี่น้องของพวกเขา

ช่วงที่ 2 สูตรขวัญนาค (มนต์ขลัง)

1) บรรยากาศพิธีกรรมบวชนาค ขวัญล่องลอยในอากาศบริเวณพิธีกรรม

ช่วงที่ 3 แห่นาค (ม่วนซื่น)

1) ขบวนแห่นาคและต้นผ้าป่าไปวัด โดยวงกลองยาวและขยับเป็นรถแห่ในปัจจุบัน ทุกคนสนุกสนานรักใคร่กลมเกลียวกัน จบด้วยบุญบวชเป็นพระทุกคนปลื้มปีติยินดี

ผลงานการแสดงทางวัฒนธรรมชุดนี้พัฒนาขึ้นด้วยตัวแบบการมีส่วนร่วมทั้งจากนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ ศิลปินหมอลำ และผู้ประกอบการ โดยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยทำหน้าที่ในการถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมผ่านการศึกษาวิเคราะห์ตัวแบบการแสดงที่เหมาะสมถูกต้องสอดคล้องกับประเพณีวิถีความเชื่อของท้องถิ่น การประยุกต์ให้เป็นการแสดงบนเวทีหมอลำ การออกแบบและถ่ายทอดลายดนตรีแก่นักดนตรีประจำวง การออกแบบการแต่งกายให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทการแสดง รวมถึงเทคนิคลีลาการเคลื่อนไหวและการแสดงออก  ในส่วนศิลปินหมอลำและนักแสดง มีส่วนร่วมในการสะท้อนแนวคิดจากฐานประสบการณ์เดิมที่สั่งสมมาให้เกิดความลงตัวและเหมาะสมกับพื้นฐานทักษะและการสื่อสารกับผู้ชมหน้าเวที ในส่วนผู้ประกอบการทำหน้าในการให้แนวคิดและจุดมุ่งหมายในภาพรวมของการแสดง มูลค่าและความคุ้มค่าของการลงทุน และการสื่อสารการตลาด นอกจากนั้น ทีมนักวิจัยและผู้เชียวชาญยังได้พัฒนาศิลปินของวงให้เป็น “นวัตกร” ผ่านการต่อยอดองค์ความรู้และเทคนิคใหม่ ๆ จากมหาวิทยาลัยซึ่งส่วนใหญ่ศิลปินล้วนเป็นผู้มีความรู้และความสามารถพื้นฐานเป็นทุนอยู่แล้ว เช่น ศิลปินหมอลำ ศิลปินนักแสดง ศิลปินนักดนตรี และศิลปินผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย เป็นต้น

การออกแบบและถ่ายทอดนวัตกรรมการแสดงพื้นบ้านบนเวทีหมอลำรวมถึงการพัฒนานวัตกร ถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญของโครงการวิจัย นอกจากนั้นโครงการวิจัยยังได้มีการพัฒนาชุดฐานข้อมูล Cultural Map เพื่อความเชื่อมโยงข้อมูลแบบห่วงโซ่อุปทานและการพัฒนาแพลตฟอร์ม หมอลำเมตาเวิร์ส เพื่อเพิ่มช่องทางการเรียนรู้และการเข้าถึงหมอลำของคนในยุคดิจิทัล อีกด้วย การดำเนินโครงการวิจัยในครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันของคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นจากหลากหลายคณะ ประกอบด้วย วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น คณะเศรษฐศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งมุ่งหวังยกระดับหมอลำให้เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ และสร้างเศรษฐกิจฐานรากจากทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นบทบาทอันสำคัญของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มุ่งอุทิศตนเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชนท้องถิ่น

 

 

KKU’s Research Project on Mo Lam and Creative Economy transfers cultural performance innovations and innovators to entrepreneurs aiming at building jobs and incomes for locality from cultural capital

https://th.kku.ac.th/?p=133586&preview=true

 

 

Scroll to Top