วันนี้ ( 12 ตุลาคม 2565 ) เวลา 09.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น ( มข.) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฝผ.) จัดกิจกรรม โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ Carbon Neutrality โดยได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ดร. จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวเปิดงาน โดยมีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ บุคลากร ทั้งสองหน่วยงานร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน ร่วมปลูกต้นกาลพฤกษ์กว่า 160 ต้น ณ บริเวณริมรั้วด้านทิศตะวันออกฝั่งถนนมิตรภาพ จังหวัดขอนแก่น
รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวว่า โครงการในวันนี้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้กำหนดเสาหลักด้านการรักษาระบบนิเวศ ประเด็นยุทธศาสตร์ ที่ 7 สร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นที่น่าอยู่ (Great Place to Live) กลยุทธสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นชุมชนสีเขียว (Green Society) มหาวิทยาลัยมีการดำเนินกิจกรรมปลูกป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยขอนแก่นเองมีพื้นที่ประมาณ 5,500 ไร่ แน่นอนว่าส่วนใหญ่นั้นเป็นพื้นที่ต้นไม้นานาชนิด ที่เราพยายามบริหารจัดการพื้นที่ให้กระทบต่อพื้นที่สีเขียวน้อยที่สุด สร้างอาคารให้เป็นอาคารรักษ์สิ่งแวดล้อม คู่ความร่วมมือกับ กฟผ. เป็นคณะเกษตรศาสตร์ แน่นอนว่ามีโครงการที่เล็งเห็นถึงการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน พืชพันธุ์นานาชนิดล้วนมาจากการวิจัย เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้แก่นักศึกษา อันจะส่งต่อจิตสำนึกให้เยาวชนเกิดความรักสิ่งแวดล้อมเป็นประโยชน์แก่สังคมต่อไป
“มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดเตรียมกาลพฤกษ์ ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปลูกพระราชทาน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนิน ประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อ 20 ธันวาคม 2510 และทรงยกให้เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นแถวแนวยาวบริเวณริมรั้วมหาวิทยาลัย เมื่อถึงฤดูเบ่งบาน จะสร้างทิวทัศน์ที่สวยงาม ซึ่งคาดว่าจะสร้างจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้สังคมต่อไป” อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าว
ดร. จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เผยว่า กฟผ.ได้กำหนดนโยบายและตั้งเป้าหมาย เพื่อมุ่งสู่ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ สนับสนุนโครงการหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คือการปรับสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง กิจกรรมครั้งนี้จึงเป็นการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน ช่วยกันดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนภายใต้การเติบโตสู่สังคมคาร์บอนต่ำร่วมกัน สู่สังคมและสิ่งแวดล้อมที่สวยงามและยั่งยืน
ทั้งนี้ Carbon Neutrality คือ การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ โดยมี 2 แนวทางดังนี้
- การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา โดยการชดเชยคาร์บอนเครดิต (Carbon Offsets) ตัวอย่างเช่น การปลูกป่าเพื่อเพิ่มจำนวนต้นไม้
- การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ต้น เช่น การหยุดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียน 100% และขยายประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยมีการยกระดับในทุกภาคส่วน ไม่ใช่เพียงโรงไฟฟ้า แต่รวมถึง การขนส่ง อาคารบ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรม และในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งแนวทางนี้จะมีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับแนวทางที่หนึ่ง ความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้นสำคัญต่อโลกของเรามาก เพื่อป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่แย่ลง และเพื่อจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มสูงไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เราต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 หรือเร็วกว่านั้น
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน
ข่าว / ภาพ : จิราพร ประทุมชัย
KKU cooperates with EGAT in the participatory forest growing activity, aiming for carbon neutrality