เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 เวลา 17.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างสร้างสรรค์ให้เกิดการมีส่วนร่วมในชุมชน โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน และ นายวรศักดิ์ วรยศ ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม กล่าวรายงาน ทั้งนี้มีวัฒนธรรมจังหวัด ผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา และประชาชน ร่วมงานกว่า 100 คน ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
นายวรศักดิ์ วรยศ ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม เผยว่า ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ได้ดำเนินการจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างสร้างสรรค์ให้เกิดการมีส่วนร่วมในชุมชน เพื่อจัดอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการรายย่อย ในจังหวัดขอนแก่นได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และฝึกปฏิบัติการสร้างสรรค์ชิ้นงาน/ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม เป็นการให้บริการวิชาการในการถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างสร้างสรรค์ ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการรายย่อยในจังหวัด ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการรายย่อย พัฒนาทักษะและความรู้ของบุคคลากรในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ โดยมีการจัดโครงการ ฯ ระหว่างวันที่ 21 – 25 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา และกำหนดจัดนิทรรศการโชว์ผลงานในวันที่ 5 – 7 กันยายน 2565 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการรายย่อย ในจังหวัดขอนแก่น จำนวน 10 กลุ่มซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีการผลักดันทางด้านภูมิปัญญา และมีศักยภาพในการเป็นต้นแบบให้กับ กลุ่มอื่น ๆ ในอนาคต ซึ่งได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโนนเขวา กลุ่มกบกะอี๊ดผ้าฝ้าย กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าบ้านป่าหวายนั่ง กลุ่มผ้าทอมือหินช้างสีบ้านคำหญ้าแดง กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าร่มเย็น กลุ่มวิสาหกิจตัดเย็บชุมชนบ้านดง กลุ่มหัตถกรรมบ้านวังกกแก้ว กลุ่มแปรรูปพวงกุญแจจากผ้า กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายบ้านหัวถนน และกลุ่มบ้านพชรพล handmade
รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า การจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างสร้างสรรค์ให้เกิดการมีส่วนร่วมในชุมชน เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์งานด้านศิลปะและวัฒนธรรมแบบอนุรักษ์และร่วมสมัย การสร้างสรรค์เศรษฐกิจจากผลิตภัณฑ์ในชุมชนโดยได้รับความร่วมมือระหว่างศูนย์ศิลปวัฒนธรรม และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับสังคม ชุมชน และมีการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานวัฒนธรรม สังคม ศาสนา และเศรษฐกิจ จึงเน้นเรื่องการสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการสร้างมูลค่าเพิ่มของงานศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน โดยใช้แนวคิดของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเชื่อมโยงองค์ความรู้สู่ภูมิภาคอาเซียนและนานาชาติได้ โครงการ“อบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างสร้างสรรค์ให้เกิดการมีส่วนร่วมในชุมชน” เป็นการให้บริการแก่สังคม เยาวชน และบุคคลที่สนใจเข้าร่วม ที่ช่วยส่งเสริมความเจริญทางความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การจินตนาการ และยังได้เห็นคุณค่าของธรรมชาติสิ่งแวดล้อม หล่อหลอมให้เป็นผู้มีจิตสํานึกที่ดีต่อสังคมในทางอ้อม ได้มุมมองทางด้านศิลปะและนําความรู้ไปใช้ได้จริง
นางนฤมล หล้าจันทร์ดา ผู้บริหารกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าร่มเย็น จ.ขอนแก่น เผยว่า ทางกลุ่ม ฯ ใช้ผ้าพื้นบ้านผ้าขาวม้าเป็นตัวหลัก มักใช้เศษผ้าที่รับบริจาคมาจากชุมชนมา แปรรูปเป็นกระปุกออมสิน กระเป๋า เพิ่มมูลค่าจากเศษวัสดุเหลือใช้เป็นเงิน นอกจากนี้กิจกรรมดังกล่าวยังช่วยสานสัมพันธ์คนในชุมชนเกิดความสามัคคีเป็นตัวเชื่อมระหว่าง สามเจนเนอร์เรชั่น ได้แก่ กลุ่มวัยรุ่นทูบีนัมเบอร์วัน กลุ่มวัยกลางคน และกลุ่มผู้สูงอายุ เมื่ออาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาช่วยเสริมความรู้วิชาการ เช่น การออกแบบ มีแนวคิดใหม่ ต่อยอด สร้างสรรค์มากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ฯ เป็นที่รู้จัก มีตัวเลือกที่หลากหลาย โดนใจตลาด สามารถเพิ่มกลุ่มลูกค้า เพิ่มยอดจำหน่ายได้มากยิ่งขึ้น ขอบคุณ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมาก ๆ ที่จัดโครงการนี้ขึ้นมา และอยากให้จัดสนับสนุนชุมชนอื่น ๆ ทุกปี
ทั้งนี้ การจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างสร้างสรรค์ให้เกิดการมีส่วนร่วมในชุมชน ได้จัดตลาดนัดสินค้าที่เกิดจากการออกแบบความคิดสร้างสรรค์ของชุมชนมากมาย โดยจัดแสดงนิทรรศการชุดแฟชั่นผ้าไหม และ จำหน่าย อาทิ กระเป๋าผ้าไหม ผ้าฝ้าย กระปุกออมสิน ไดโนเสาร์ผ้า พวงกุญแจ ชุดผ้าไหม สินค้าตกแต่งมากมาย ระหว่างวันที่ 5 – 7 กันยายน 2565 เวลา 16.30 น. – 19.00 น. ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ภาพ/ข่าว : จิราพร ประทุมชัย