มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงาน “งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2565” ในแนวคิด “เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG : Bio – Circular Green Economy)” สำหรับพิธีเปิดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2565ได้รับเกียรติจาก รศ. นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ผศ.ดร.อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวรายงาน ร่วมด้วย คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้บริหารคณะหน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ รวมถึงนักเรียนจากหลายสถาบัน ตลอดจนประชาชนทั่วไปเข้าชมงาน ณ อาคารวิทยวิภาส และพื้นที่โดยรอบคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2565 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2565 ภายใต้หัวข้อหลัก “เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG : Bio – Circular Green Economy)” โดยภายในมีงานนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” พร้อมจัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” นิทรรศการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาตลอดจนประชาชนทั่วไปที่เข้าชมงาน ได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของวิทยาศาสตร์ไทย นอกจากนี้ภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2565 ยังมีกิจกรรมมากมาย อาทิ
๐ พิธีถวายพานพุ่มราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช (รัชกาลที่ 4) ในวันที่ 18 สิงหาคม 2565
๐ นิทรรศการด้านการเรียนการสอน ผลงานวิจัย โครงการบริการวิชาการแก่ชุมชนของคณะวิทยาศาสตร์
๐ นิทรรศการทางวิชาการของแต่ละสาขาวิชา
๐ กิจกรรมการแข่งขันสื่อสารวิทยาศาสตร์ Sit Talks และ AI for All
๐ การประกวด Science Show และสื่อการสอนด้านวิทยาศาสตร์
๐ การแข่งขันกระบวนการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งในครั้งนี้ประกอบด้วยกิจกรรมมากมายที่ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับประโยชน์ และที่สำคัญคือผลพลอยได้ที่เกิดจากการจัดงานในครั้งนี้จะเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปเกิดแรงบันดาลใจใฝ่สัมฤทธิ์ในด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนสำคัญที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง และเป็นการถือปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องนั่นคือการระลึกถึงพระเดชานุภาพและพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” พระองค์ได้ทรงคำนวณทำนายการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พุทธศักราช 2411 อันเป็นพระปรีชาชาญที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งโลก แซ่ซ้องสรรเสริญและเกิดเป็นความหวังว่า เราจะมีคนไทยที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท จนเป็นที่ยกย่องแก่ชาวโลกเช่นกัน นอกจากนี้ในปีนี้ยังเป็นปีที่ครบรอบพระราชสมภพครบ 218 ปี พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” นอกจากนี้ยังได้มีการจัดนิทรรศการเพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” และนิทรรศการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) อีกด้วย ทั้งนี้แสดงความขอบคุณองค์กร ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนในการจัดกิจกรรมอันอุดมประโยชน์ครั้งนี้
ผศ.ดร.อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2565 โดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยที่วัตถุประสงค์หลักในการจัดงาน เพื่อเทิดพระเกียรติพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” พร้อมด้วยเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” และเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๑๐) พร้อมส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของไทย เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาทักษะวิชาการ ด้านวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งนี้มีกิจกรรมการประกวดและแข่งขันทางวิชาการ ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ในปีนี้ มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความร่วมมือในการจัดนิทรรศการเพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมและมีนักเรียน โรงเรียน และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมการประกวดและแข่งขันรวมทั้งสิ้น 1,312 คน จาก 190 แห่ง โดยที่งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติจะกระตุ้นให้เยาวชนและประชาชนทั่วไป มีความเข้าใจในวิทยาศาสตร์มากขึ้นและรู้จักการนำวิทยาศาสตร์ไปในชีวิตประจำวันยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังมีหลายพื้นที่ที่มีการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ อาทิ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีฐานการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์มากมาย เช่น การแสดงหุ่นยนต์ โครงการสำรวจและผลิต ปตท.สผ. การจำลองการบิน สาธิตบินโดรน กิจกรรม Science Show รวมถึงวิทยาลัยคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับกิจกรรมการแข่งขันทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การแข่งขัน Web Programming Competition 2022 และการทดลองวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน
ข่าว ณัฐวุฒิ จารุวงศ์
ภาพ อรรถพล ฮามพงษ์